เมื่อปี 2542 เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ รวมตัวกันที่หน้ากระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาใส่ใจความไม่เป็นธรรมในการจดสิทธิบัตรยาในประเทศซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาของประชาชน โดยยกกรณีตัวอย่างการขอจดสิทธิบัตรยาเม็ดดีดีไอของบริษัทบริสตอล ไมเยอร์ส สควิบป์ (Bristol Myers Squibb Company: BMS) ว่าไม่ชอบธรรม เพราะในคำขอฉบับแรกมีการกำหนดขนาดของยาไว้ที่ 5 – 100 มิลลิกรัมต่อหน่วยการใช้ยา แต่ในสิทธิบัตรกลับไม่ปรากฏขนาดของการใช้ยา ทำให้ขอบเขตของการครอบคลุมสิทธิบัตรยากว้างขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตรายอื่นไม่สามารถผลิตยาได้ ตัดโอกาสในการแข่งขันของบริษัทยารายอื่น

ต่อมาเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ดำเนินการฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรยาดีดีไอ ท้ายที่สุดบริษัท BMS ขอเจรจาโดยจะยอมถอนสิทธิบัตรออกจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาฯ นั่นหมายความว่า “ยาเม็ดดีดีไอไม่มีสิทธิบัตรในประเทศไทยอีกต่อไป” จึงนับเป็นความสำเร็จหนึ่งในการต่อสู้ด้วยหลักการสำคัญ คือ ลดการผูกขาดการผลิตยาจากบริษัทยาข้ามชาติ สนับสนุนให้มีการผลิตยาราคาถูกในประเทศ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อฯ สามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมียาต้านไวรัสที่จำเป็นอีกหลายตัว ที่ยังมีราคาแพงอยู่ และจะเป็นปัญหา หากผู้ที่ดื้อยาแล้วต้องเปลี่ยนสูตรยา โดยจะทำให้โอกาสและทางเลือกในการใช้ยาของผู้ติดเชื้อฯ น้อยลง ซึ่งหนทางการต่อสู้เรื่องยาแพง จะยังไม่จบง่ายๆ เราจะต้องเดินหน้าต่อสู้เรื่อง “สิทธิบัตรยา” ต่อไป

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวยาดีดีไอ เป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวประเด็นการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (ซีแอล) เนื่องจากเราพยายามผลักดันให้รัฐบาลสมัยนั้นผลิตยาดีดีไอชนิดเม็ด โดยใช้ช่องทางของมาตรการดังกล่าว แต่รัฐบาลสมัยนั้นยังไม่มีแนวคิดที่จะผลิต ทำให้องค์การเภสัชกรรมต้องเลี่ยงไปผลิตยาดีดีไอชนิดผง ซึ่งไม่ติดเงื่อนไขสิทธิบัตรออกจำหน่ายแทน