การต่อสู้ในเรื่องสิทธิบัตรยาที่ไม่เป็นธรรม เป็นสิ่งที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่กรณียาเม็ดดีดีไอ เพราะ “ยา” เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ติดเชื้อฯ มีสุขภาพแข็งแรง แต่ถ้ายาถูกผูกขาดด้วยเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม ย่อมทำให้ผู้ติดเชื้อฯ หลายคนเข้าไม่ถึงยาที่จำเป็นต่อการดูแลรักษาสุขภาพตน

กรณียาต้านไวรัสเอชไอวี (ยาต้านไวรัสฯ) ที่มีชื่อทางการค้าว่า “คอมบิด” (COMBID) ซึ่งเป็นยาเอแซดที (AZT) รวมกับยาสามทีซี (3TC) เป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างของการต่อสู้เรียกร้องของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ที่มีต่อความไม่เป็นธรรมในการขอจดสิทธิบัตรยาในไทยของบริษัทแกล๊กโซ สมิธ ไคล์น (บริษัท แกล็กโซฯ) ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาที่มีชื่อทางการค้าว่า “คอมบิด”

ย้อนไปเมื่อประมาณปี 2540 บริษัท แกล็กโซฯ ขอจดสิทธิบัตรยาคอมบิดในเมืองไทย ซึ่งทุกครั้งที่มีการขอจดสิทธิบัตรตามเงื่อนไขของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ต้องมีการประกาศให้สาธารณชนทราบ เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีการประกาศแล้ว ใครที่ไม่เห็นด้วยสามารถยื่นคำคัดค้านก่อนที่จะมีการประกาศให้สิทธิบัตรได้

ดังนั้น เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2540 มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.) ซึ่งเป็นองค์กรภาคีที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ มาอย่างต่อเนื่อง จึงได้ยื่นคัดค้านการจดสิทธิบัตรของบริษัทดังกล่าวไปที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาฯ ด้วยเหตุผล

  • ยาคอมบิดไม่ใช่ยาใหม่ เพราะมีการใช้อย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นการนำยาสองชนิดมารวมกันนั้น เป็นเพียงการคิดค้นและผลิตขั้นพื้นฐานในวงการเภสัชกรรม ไม่ได้มีกระบวนการที่ซับซ้อนแต่อย่างใด

นอกจากนั้นเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ยังมีความเป็นห่วงว่าหากปล่อยให้มีการจดสิทธิบัตรในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นในไทย ย่อมมีผลกระทบด้านราคายา เพราะจะเกิดการผูกขาดการผลิตยาในเชิงพาณิชย์ นั่นจะทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงยาที่จำเป็น อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของประชาชน เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ต้องดูแลรับผิดชอบการจัดหายาต้านไวรัสฯ ตามชุดสิทธิประโยชน์ที่กำหนดจะต้องใช้งบประมาณในการบริหารจัดการที่สูงขึ้น ส่งกระทบในการรักษาผู้ป่วยที่อาจทำได้ไม่ทั่วถึงซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและสวัสดิภาพของประชาชน

แต่เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2548 ตามหนังสือเลขที่ พณ 0706/1230 ของสำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านของ มสพ. โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเอกสารฉบับใดที่ปรากฏให้เห็นชัดว่ามีการเปิดเผยข้อมูลของสิ่งประดิษฐ์อย่างครบถ้วน จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ายานี้เป็นยาเก่าที่ใช้กันมานานแล้ว แต่ มสพ. ได้ยื่นคำอุทธรณ์ไปทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาฯ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2548 โดยยืนยันในประเด็นเดิม

ส่วนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาสังคมนอกจากจะมีการคัดค้านผ่านช่องทางที่กฎหมายกำหนดแล้ว เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2549 ยังได้เดินทางไปชุมนุมคัดค้านที่หน้าบริษัท แกล๊กโซฯ ประจำประเทศไทย เพื่อให้ถอดสิทธิบัตรที่ไม่เป็นธรรมออกไป

ในที่สุดบริษัท แกล๊กโซฯ ได้ขอถอนคำขอรับสิทธิบัตรออกจากประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2549 หลังจากที่เครือข่ายภาคประชาสังคมออกมาเคลื่อนไหวที่หน้าบริษัทยาได้เพียง 1 วัน