“การประชุมเอดส์นานาชาติ” (International AIDs Conference) หรือ “เอดส์โลก” ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของคนทำงานด้านเอดส์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ บุคลากรสายสุขภาพ คนทำงานด้านเอดส์ในชุมชน รวมถึงผู้ติดเชื้อฯ จะได้มาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ การปฏิบัติงาน และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่น่าสนใจซึ่งจะช่วยให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์เกิดความก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับงานเอดส์โลกเสมอมา คือ การมอบรางวัลริบบิ้นแดง (Red Ribbon Award) ให้กับองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนที่ทำงานกับชุมชนในเชิงผลักดัน รณรงค์ ช่วยเหลือ และสนับสนุนด้านคุณภาพชีวิตให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์

ในการประชุมเอดส์โลก 2006 ครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 13 – 18 สิงหาคม 2549 ที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา มีองค์กรที่ทำงานด้านเอดส์กว่า 517 องค์กรทั่วโลกส่งผลงานเข้าร่วมชิงรางวัล Red Ribbon แต่มีเพียง 25 องค์กรเท่านั้นซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในทวีปแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกาที่ผ่านการคัดเลือกให้นำเสนอผลงานของตัวเองในการประชุมเอดส์โลก ครั้งที่ 16 เพื่อให้ได้ 5 องค์กรที่เหมาะสมที่จะได้รับรางวัลนี้

“เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย” เป็น 1 ใน 25 องค์กรจากทั่วโลกและเป็นหนึ่งเดียวจากประเทศไทยที่ได้นำเสนอผลการทำงานของผู้ติดเชื้อฯ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม รวมทั้งสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนด้วยความเข้าใจและคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเอดส์

เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯได้รับคัดเลือกให้เป็นองค์กรที่ได้รับรางวัล Red Ribbon สาขาการจัดให้มีการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและสนับสนุนผู้ติดเชื้อฯ ส่วนอีก 4 สาขาประกอบด้วย The All Ukrainian Network of People Living with HIV/AIDS จากประเทศยูเครน ได้รับรางวัลในสาขาการต่อสู้กับปัญหาการเลือกปฏิบัติและการรังเกียจ The Girl Child Network จากประเทศซิมบับเว่ ได้รับรางวัลในสาขาการต่อสู้กับปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศที่มีผลต่อการแพร่กระจายการติดเชื้อฯ Durjoy Nari Shongo จากประเทศบังคลาเทศ ได้รับรางวัลในสาขาสนับสนุนโครงการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และ Mboole Rural Development จากประเทศแซมเบีย ได้รับรางวัลในสาขาให้การสนับสนุนเด็กกำพร้าที่ติดเชื้อฯ และเด็กด้อยโอกาสอื่น ๆ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ เน้นการทำงานกับเพื่อนผู้ติดเชื้อฯ ทุกกลุ่มในทุกพื้นที่ ด้วยการให้ข้อมูลทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมถึงสถานการณ์ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ผ่านการทำกิจกรรมกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ ให้สามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง ซึ่ง “ศูนย์บริการแบบองค์รวม” เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ ที่พลิกบทบาทจากผู้รับบริการมาเป็นผู้ร่วมให้บริการร่วมกับโรงพยาบาล

เราเชื่อว่าการมีกลุ่มที่เข้มแข็ง ย่อมเป็นรากฐานสำคัญในการผลักดันเชิงนโยบายได้สำเร็จ เช่น เมื่อปี 2542 เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ สามารถดำเนินการฟ้องร้องกรณีสิทธิบัตรยาเม็ดดีดีไอของบริษัท บริสตอล ไมเยอร์ สควิปป์ หรือ BMS เพื่อขอให้รัฐบาลนำเข้ายาชื่อสามัญจากประเทศอินเดียในราคาที่ถูกกว่ายาต้นแบบที่จะช่วยคนเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น

การผลักดันให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเอดส์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2544  จนเมื่อปี 2547 ทำให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อย  

การกระตุ้นให้ภาครัฐใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือ CL เพื่อลดการผูกขาดยาจากบรรษัทยาข้ามชาติ รวมทั้งการติดตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในด้านสิทธิบัตรยาอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ต้องการให้เรื่องของสิทธิบัตรมาเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงยาของประชาชน รวมถึงการร่วมผลักดันให้ระบบสวัสดิการของรัฐมีมาตรฐานเท่าเทียมกันทุกระบบ และที่สำคัญเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ต้องการสร้างความเข้าใจให้สังคมเกิดความตระหนักว่า “เอดส์…รักษาได้