เมื่อปี 2544 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือในรัฐบาลสมัยนั้นเรียกว่า “โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค” ที่เข้ามาช่วยดูแลด้านบริการสาธารณสุขให้กับประชาชนที่ยังไม่ได้รับสิทธิการรักษาในระบบราชการ หรือประกันสังคม หรือรัฐวิสาหกิจ

แต่ในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินโครงการพบว่าในชุดสิทธิประโยชน์การรักษาที่รัฐบาลกำหนดยังไม่รวมการรักษาด้วยยาต้านไวรัสสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ (ยาต้านไวรัสฯ) เพราะยังมีราคาที่สูง ประเทศยังไม่มีงบประมาณมารองรับได้เพียงพอ

อย่างไรก็ดี ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ เห็นว่าการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ ถือเป็นแนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐานทั่วโลก เพราะสามารถช่วยลดจำนวนเชื้อเอชไอวีในร่างกาย ลดอัตราการเจ็บป่วยและลดการเสียชีวิตลงได้จริง ทำให้ผู้ติดเชื้อฯ มีสุขภาพที่ดีขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องมีเรื่องยาต้านไวรัสฯ บรรจุลงไปในชุดสิทธิประโยชน์ดังกล่าว

นั่นหมายความว่าเมื่อถึงเวลาต้องรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ ก็ต้องได้รับสิทธินั้นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จึงพูดคุยและรณรงค์กันในกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ ทั่วประเทศให้ช่วยกันผลักดันให้โครงการ 30 บาทฯ ต้องครอบคลุมการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ ด้วย

จนกระทั่งวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 ผู้ติดเชื้อฯจากทั่วประเทศ กว่า 1,200 คน ได้เข้าพบนางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ในขณะนั้น) ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้มีการประกาศรับหลักการที่จะนำยาต้านไวรัสฯ เข้าสู่โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยให้มีการตั้งคณะทำงานที่มีองค์ประกอบทั้งจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ เอ็นจีโอและภาครัฐ เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นตอน

จากการทำงานร่วมกันและการผลักดันอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน ส่งผลให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 เป็นต้นไปให้ยาต้านไวรัสฯ เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ทั้งนี้เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ยังคงมีการติดตามและผลักดันเรื่องยาต้านไวรัสฯ อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้แนวทางการรักษามีความทันสมัยตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและตามมาตรฐานกำกับขององค์การอนามัยโลก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเป็นหลักประกันว่า “การได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ นั้น เป็นสิทธิของผู้ติดเชื้อฯ ทุกคนในทุกระบบหลักประกันสุขภาพของไทย”