ที่ คอท. 011/2559

                                                                                    วันที่ 28 กรกฎาคม 2559

 

เรื่อง      ข้อเสนอเรื่องแนวทางส่งเสริมการเข้าถึงการรักษาไวรัสตับอักเสบซี

เรียน     นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555  ที่ประเทศไทยมีสิทธิประโยชน์การรักษาไวรัสตับอักเสบซีด้วยยา Peg-interferon และ Ribavirin และในปี 2557 ได้ขยายความครอบคลุมการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีร่วมด้วย รวมทั้งคู่มือ แนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย ปี 2557 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุเป็นมาตรฐาน ให้มีการตรวจคัดกรอง Anti HCV ในผู้ติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากพบ 8-10% ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งตับ ตับแข็ง เร็วขึ้นกว่าผู้มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม จากการทำงานของเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และองค์กรภาคี พบสถานการณ์การเข้าไม่ถึงการตรวจคัดกรองและการรักษาของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด ซึ่งเป็นผู้มีโอกาสเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี อันเนื่องมาจากอุปสรรคหลายประการ รวมทั้งยา Peg-interferon แม้จะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษา แต่มีผลข้างเคียงสูง ทำให้ผู้ที่ได้รับการรักษา ต้องเผชิญกับผลข้างเคียงต่างๆ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตระหว่างการรักษา ซึ่งในกรณีผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องใช้เวลารักษานาน 48 สัปดาห์ (1 ปี)

อีกด้านหนึ่ง แนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐานของนานาชาติ มีการรักษาด้วยยาต้านไวรัสตับอักเสบซีในรูปแบบของยากิน ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโดยตรง หรือยากลุ่ม DAA (Direct-Acting Antiviral) เช่น ยา Sofosbuvir, Daclatasvir, Ledipasvir และอื่นๆ อีกหลายชนิด ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาหายขาดสูง ผลข้างเคียงต่ำ และระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาเพียง 12-24 สัปดาห์ และยังไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของประเทศไทย เนื่องจากยากลุ่มดังกล่าวมีราคาสูง

ยกตัวอย่าง สถานการณ์ยา Sofosbuvir ซึ่งเป็นยาหลักในการรักษาไวรัสตับอักเสบซี บริษัทยาต้นแบบที่ขายในสหรัฐอเมริกามีราคาประมาณ 28,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ  980,000 บาทต่อขวด ถ้ารักษา 12 สัปดาห์จะเป็นเงินประมาณ 2,940,000 บาท นอกจากราคาที่ตั้งไว้สูงจนเกินความเป็นจริงแล้ว บริษัทยาต้นแบบที่มีสิทธิบัตรยาดังกล่าวยังได้เพิ่มกลไกการผูกขาดตลาดยาด้วยการทำสัญญากับบริษัทยาชื่อสามัญในประเทศอินเดียหลายบริษัท อนุญาตให้ผลิตยาชื่อสามัญขายในราคาถูกได้ แต่กำหนดให้ขายได้เพียงบางประเทศที่กำหนดไว้ในสัญญาเท่านั้น ส่วนประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่อยู่ในสัญญาพร้อมกับกว่า 50 ประเทศ ไม่มีสิทธิได้เข้าถึงยาราคาถูกจากบริษัทยาชื่อสามัญ

ในโอกาสวันตับอักเสบโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กรกฎาคม ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยได้ให้

ความสำคัญในการรณรงค์การเข้าถึงการตรวจคัดกรองและการเข้าถึงการรักษาไวรัสตับอักเสบ เครือข่ายฯ และองค์กรภาคีขอเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข มียุทธศาสตร์ส่งเสริมการตรวจคัดกรองและการเข้าถึงการรักษาไวรัสตับอักเสบซี ในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ใช้ยาเสพติด ดังต่อไปนี้

1. ขอให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing-CL)   ต่อยากลุ่ม DAA โดยเฉพาะยา Sofosbuvir ซึ่งเป็นยาสำคัญที่ใช้เป็นแกนหลักในการรักษาไวรัสตับอักเสบซีร่วมกับยาชนิดอื่นและสามารถรักษาได้ทุกสายพันธุ์ เพื่อให้ประชาชนไทยในทุกระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ รวมทั้งแรงงานข้ามชาติเข้าถึงยา

2.  ส่งเสริมและกำกับติดตามให้หน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซีให้เป็นจริง ตามแนวทางการรักษาของกระทรวงสาธารณสุข

–       มีแนวทางหรือแนวปฎิบัติที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้โรงพยาบาลชุมชนมีบทบาทติดตามดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับหน่วยบริการที่เป็นหน่วยให้การรักษา เช่น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด โดยการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือกลุ่มผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในพื้นที่

–       พัฒนาชุดตรวจคัดกรอง Anti HCV หรือมีแนวทางต่อรองราคาค่าตรวจให้มีราคาถูกลง เพื่อลดค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการที่ทำการตรวจคัดกรอง

–       ขยายเครือข่ายการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อติดตามและประเมินผลการรักษาให้ครอบคลุมทุกจังหวัด

3. พัฒนาระบบการส่งต่อการดูแลรักษาที่ชัดเจน และผู้รับบริการสามารถรับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเดินทางไปรักษาได้ต่อเนื่อง ไม่ต้องรับภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางและลดเวลาในการไปรักษาลง

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาเป็นการเร่งด่วน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น