วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทยร่วมกับภาคี จัดงานมอบประกาศนียบัตร “การให้บริการด้านเอชไอวี/เอดส์แบบองค์รวม โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รุ่นที่ 1 พ.ศ. 2565” ให้กับผู้ผ่านการอบรม จำนวน 46 คน ซึ่งเป็นแกนนำจากกลุ่มศูนย์องค์รวม*  12 จังหวัด จำนวน 22 กลุ่ม  ที่ได้ร่วมให้บริการผู้ติดเชื้อฯ จำนวน 10,360 คน

การอบรมดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาแกนนำภาคประชาชนให้มีความพร้อมไปสู่การขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวี ใน งานนี้ มีผู้ให้เกียรติมาร่วมงาน ได้แก่ หน่วยบริการที่ทำงานร่วมกับศูนย์องค์รวม, วิทยาลัยราชสุดามหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (กอพ.) กรมควบคุมโรค, UNAIDS, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์และภาคีอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 85 คน

นอกจากจะเป็นการมอบประกาศนียบัตร เพื่อเป็นเกียรติให้กับแกนนำศูนย์องค์รวมผู้ผ่านการอบรมเป็นรุ่นที่ 1 แล้ว ยังเป็นการปักหมุดหมาย สร้างแรงใจร่วมกัน เพื่อเดินหน้างานการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยศูนย์องค์รวมและเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน

ทั้งนี้หลักสูตร“การให้บริการด้านเอชไอวี/เอดส์แบบองค์รวม โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” เกิดจากตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ที่ให้ “องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน” เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จึงเตรียมความพร้อมพัฒนาแกนนำกลุ่มศูนย์องค์รวม เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วม ไปสู่การขึ้นทะเบียนตามมาตรา 3  โดยร่วมมือกับ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ,สปสช. และการสนับสนุนงบประมาณจาก  UNAIDS และ USAID/PEPFAR พัฒนาหลักสูตรอบรมขึ้น โดยมีคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร ภายใต้วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบจากหลายภาคส่วน เพื่อพิจารณาให้หลักสูตรมีความครบถ้วนสมบูรณ์ ประกอบด้วย นักวิชาการ/แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเอชไอวี นักวิชาการด้านการศึกษา ตัวแทนจากกอพ. สำนักควบคุมโรคเขต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หน่วยบริการ เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ และสปสช.  จนได้รับการอนุมัติหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น “หลักสูตรการให้บริการด้านเอชไอวี/เอดส์ แบบองค์รวมโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” โดยมีประธานหลักสูตร คือ แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ อดีตคณบดีวิทยาลัยราชสุดา

หลักสูตรดังกล่าว มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งทั้งองค์ความรู้และทักษะให้กับภาคประชาชนในการดูแลและติดตามผู้ติดเชื้อฯ แบบองค์รวมที่ครอบคลุมด้านกาย ใจ และสังคม รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดบริการด้านเอชไอวี/เอดส์ร่วมกับหน่วยบริการ ทั้งนี้หลักสูตรอบรม แบ่งเป็น 2 ภาค คือ “ภาคทฤษฎี”  45 ชั่วโมง และ “ภาคปฏิบัติ” โดยทำงานร่วมกับหน่วยบริการ 45 ชั่วโมง รวมเป็น 90 ชั่วโมง ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมต้องผ่านการสอบวัดผลตามเกณฑ์การประเมินผลที่กำหนด

….

หมายเหตุ: *ศูนย์องค์รวม การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ติดเชื้อในการพัฒนาระบบบริการ

ตั้งแต่ปี 2546 เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ได้ดำเนินงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ติดเชื้อฯในงานพัฒนาระบบบริการ ในรูปแบบ “ศูนย์องค์รวม”  โดยพลิกบทบาทกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ จาก “ผู้รับบริการ” เป็น “ผู้ร่วมจัดบริการ” ซึ่งเป็นความร่วมมือของกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ กับหน่วยบริการ ทั้งนี้ สปสช.ได้เห็นความสำคัญการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ จึงสนับสนุนงานศูนย์องค์รวม ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ปัจจุบัน มีศูนย์องค์รวม 247 กลุ่ม ดูแลผู้รับบริการประมาณ 60,000 คน

บทบาทสำคัญของศูนย์องค์รวม คือ ส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อฯ ได้รับการดูแลรักษาที่ได้มาตรฐานและคงอยู่ในระบบบริการอย่างต่อเนื่อง สร้างความมั่นใจเรื่องการอยู่ร่วมกับเอชไอวีของตนเองและอยู่ร่วมกับสังคม ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยทำงานร่วมกับชุมชน และปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หากผู้ติดเชื้อฯ ได้รับการติดตามดูแลรอบด้าน จะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

กิจกรรมและบริการของศูนย์องค์รวม ร่วมกับหน่วยบริการ เพื่อให้ผู้รับบริการคงอยู่ในระบบการติดตามและการรักษา คือ ให้ข้อมูลการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีและโรคร่วมอื่นๆ ให้คำปรึกษาทั้งแบบรายบุคคล และแบบกลุ่ม ติดตามเยี่ยมบ้าน จัดนัดพบกลุ่ม ร่วมให้บริการในวันนัดรับยาหรือตรวจเลือด ติดตามผู้ที่ขาดนัดหรือหายจากระบบบริการ และติดตามต่อเนื่องผ่านช่องทางต่างๆ เช่น โทรศัพท์ สื่อออนไลน์อื่น รวมทั้งประสานส่งต่อเพื่อเข้าถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นๆ

จังหวะก้าวต่อไป ศูนย์องค์รวมจะต้องเข้าสู่กระบวนการประเมินมาตรฐานการจัดบริการเอชไอวี ซึ่งเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ มีบทบาทในการประสานงานร่วมกับภาคีต่างๆทั้งในส่วนกลาง และในพื้นที่ เพื่อให้ศูนย์องค์รวม ได้รับการประเมินมาตรฐานการจัดบริการให้สำเร็จลุล่วง และดำเนินการขึ้นทะเบียนตามระเบียบของสปสช.ต่อไป