ในช่วงที่ยาต้านไวรัสเอชไอวี (ยาต้านไวรัสฯ) ยังคงเป็นโครงการของกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนด จำนวนโควตาคนเข้ารับการรักษา ซึ่งไม่ครอบคลุมผู้ติดเชื้อฯ ทุกคน เพราะยาที่มีในตอนนั้นไม่เพียงพอจึงต้องเลือกให้คนที่จำเป็นต้องใช้ก่อน นำมาสู่ “บายเยอร์ คลับ” (Buyer’s Club) ที่เป็นการรวมกลุ่มของผู้ที่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ ที่จำเป็นเร่งด่วน และพอมีเงินจ่ายค่ายาต้านไวรัสฯ ในราคาถูก โดยจะได้รับการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ส่วนความคาดหวังระยะยาว คือ การผลักดันให้ราคายาต้านไวรัสฯ มีราคาถูกลง เพื่อให้ผู้ติดเชื้อฯ สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง

การรวมกลุ่ม “บายเยอร์ คลับ” มี 2 ระดับ คือ ระดับที่ 1 “กลุ่มในพื้นที่” มีบทบาทให้ข้อมูลการดูแลโรคฉวยโอกาสและยาต้านไวรัสฯ และมีระบบติดตามดูแลต่อเนื่อง เพื่อให้สมาชิกสามารถกินยาได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการประสานงานกับแพทย์ผู้ดูแล บริหารจัดการส่งยาให้เพื่อน ระดับที่ 2 “กลุ่มระดับประเทศ” มีบทบาทสนับสนุนด้านข้อมูลองค์ความรู้ให้กับกลุ่มในการดูแลเพื่อน และทำหน้าที่ต่อรองและจัดหาแหล่งยาราคาถูก ซึ่งมีทั้งเจรจาสั่งยาจากบริษัทยาภายในประเทศ และการเดินทางไปซื้อยาจากต่างประเทศ เช่น ประเทศอินเดีย เนื่องจากยามีราคาถูก อีกทั้งองค์การเภสัชกรรมในขณะนั้นยังไม่ได้ผลิตยาจีพีโอเวียร์ออกมาจำหน่าย นอกจากนั้น “บายเยอร์ คลับ” ยังทำงานร่วมกับองค์การหมอไร้พรมแดน – เบลเยี่ยม และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ในการสนับสนุนข้อมูล หนุนช่วยเจรจาหาแหล่งยาราคาถูก และให้ข้อมูลด้านวิชาการกับแพทย์ที่ดูแลผู้ติดเชื้อฯ ในบางพื้นที่

ปัจจุบันแม้งานบายเยอร์ คลับ จะปิดตัวลงไปแล้ว เพราะยาต้านไวรัสฯ ได้เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำให้ผู้ติดเชื้อฯ ได้เข้าถึงยาต้านไวรัสฯ ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น แต่บทเรียนการทำ “บายเยอร์ คลับ” สามารถนำไปแบ่งปันและช่วยให้เพื่อนผู้ติดเชื้อฯ ต่างประเทศที่มีปัญหาการเข้าไม่ถึงยาได้มีโอกาสเรียนรู้แนวทางในการเข้าถึงยาที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น