ท้าวคำหนุ่ม

“เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” เป็นสโลแกนที่รัฐบาลประกาศเป็นนโยบาย เพื่อบูรณาการกองทุนสุขภาพใหญ่ 3 กองทุน คือกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม ให้สามารถดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันท่วงที เพื่อลดการเสียชีวิต โดยไม่ต้องถูกเก็บเงิน ไม่ถูกถามสิทธิ หรือถูกย้ายโรงพยาบาลโดยที่ยังรักษาไม่หาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โดยมีการลงนามบันทึกความร่วมมือกันระหว่าง กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2555 และเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นมา

ผ่านมาแล้ว 4 เดือน (1 เมษายน – 31 กรกฎาคม 2555) พบข้อมูลจากการแถลงผลการดำเนินงาน โดย นายแพทย์ วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (มติชนออนไลน์, 14 สิงหาคม 2555) มีปรากฏการณ์ ที่น่าสนใจ ดังนี้

  • คนส่วนใหญ่ ยังเข้าใจว่า เป็นการเอา 3 กองทุนมารวมกัน แต่ข้อเท็จจริงคือ เป็นการบูรณาการ ของ 3 กองทุน โดยมีเจ้าภาพหลักคือ สปสช. เป็นผู้จ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ที่อยู่ใน 3 สิทธิ ไปก่อน โดยมีอัตรากลาง คือ 10,500 บาท จากนั้น สปสช. จะเป็นผู้ตามไปเก็บเงินจากกองทุน แต่ละกองทุนเอง
  • ผู้เข้ารับบริการ รวม 4,080 ราย
    • สิทธิหลักประกัน จำนวน 2,526 ราย คิดเป็นร้อยละ 61.91
    • สิทธิราชการ จำนวน 1,135 ราย คิดเป็นร้อยละ 27.82
    • สิทธิประกันสังคม จำนวน 409 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.01
    • มีปัญหาสถานะสิทธิ จำนวน 6 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.15
    • สิทธิรัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.10
  • สิทธิราชการ รับบริการสูงสุดเมื่อเทียบกับจำนวนผู้มีสิทธิ คือ 23 คน ต่อ 10,000 คน รองลงมาคือหลักประกันสุขภาพ 5 คน ต่อ 10,000 คน และประกันสังคม 4 คนต่อ 10,000 คน
  • เขตกรุงเทพมหานคร มีผู้เข้ารับบริการมากที่สุดคือ 1,745 ราย รองลงมาคือ เขตสระบุรี 470 ราย และ เขตเชียงใหม่ 410 ราย ตามลำดับ

ปัญหาภาพรวม คือ

  • โรงพยาบาลเอกชนยังเห็นว่าเงินชดเชยยังน้อยกว่าต้นทุน ส่งผลให้ หลายแห่งปฎิเสธการรักษาผู้ป่วย
  • การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเมื่อพ้นภาวะวิกฤติ คือพ้นจากภาวะอันตรายถึงชีวิต หลังจากการให้การรักษาเบื้องต้นแล้ว โรงพยาบาลที่รับรักษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชน ผลักภาระให้กับผู้ป่วย โดยการการส่งตัวกลับไปรักษาตามสิทธิของแต่ละคน ทั้งที่ในหลักเกณฑ์ ต้องรักษาจนกว่าอาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นเป็นปกติ
  • การเรียกเก็บเงินจากกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ ที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ของโรงพยาบาล เนื่องจากผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ ขาดเอกสารประกอบการขอเบิก เช่น ใบแจ้งความจากตำรวจ
  • เกณฑ์ของประกันสังคมไม่รับผิดชอบกรณีผู้ป่วยทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย
  • คนส่วนใหญ่ ยังขาดความรู้เรื่องสิทธิดังกล่าว ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่น ในการเข้าไปรับบริการตามนโยบายของรัฐ เพราะไม่มั่นใจว่า หากเข้าไปโรงพยาบาลที่ตนเองไม่มีสิทธิการรักษาแล้ว อาจต้องสำรองเงินไปก่อน ทำให้ต้องยอมพาผู้ป่วยกลับไปรักษาโรงพยาบาลตามสิทธิ ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ป่วย บางรายต้องเสียชีวิต

สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ทำให้เห็นว่า การริเริ่มบูรณาการของการให้บริการฉุกเฉินสำหรับคนที่อยู่ใน ๓ ระบบดังกล่าว ยังไม่เป็นจริงตามเป้าหมายของรัฐบาล จะเห็นได้จากปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เพราะรัฐบาลยังขาดการประชาสัมพันธ์ และขาดมาตรการในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นการเริ่มต้นนโยบายที่ดี เพราะเป็นโอกาสในการนำปัญหา อุปสรรคต่างๆ ไปพัฒนาระบบบริการทั้ง ๓ ระบบ ให้เกิดความเท่าเทียม ทั่วถึง เพราะอย่างน้อย ก็ทำให้หลายคน มีหลักประกันในชีวิตว่า หากเกิดภาวะฉุกเฉิน ก็จะสามารถเข้ารับบริการ โดยไม่ถูกถามสิทธิ ไม่ถูกเก็บเงินได้ ก่อนที่จะขยายไปถึงโรคเรื้อรังอีก 2 โรค คือ ไตวายเรื้อรัง และเอดส์ ในเดือนตุลาคม 2555 นี้

ดังนั้น การช่วยกันตรวจสอบติดตามอย่างต่อเนื่อง เป็นช่องทางหนึ่ง ที่จะพัฒนาคุณภาพให้เกิดเป็นจริงได้ หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถาม ทั้ง 3 กองทุนได้ที่

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โทร.1330
สำนักงานประกันสังคม โทร.1506
กรมบัญชีกลาง โทร.0 2270 6400