เพื่อนโรคไต และผู้ติดเชื้อเอชไอวี ยื่นข้อเสนอ “ไตวาย ต้องรับการรักษาตามมาตรฐาน ไม่เลือกปฏิบัติ”
วันนี้ 5 พฤศจิกายน 2563 สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล ประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอให้สปสช.ดำเนินการให้ผู้ป่วยโรคไตที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ได้รับบริการตามมาตรฐาน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ
ข้อมูลจากสปสช. มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้ารับการบำบัดทดแทนไตจำนวนทั้งสิ้น 355 คน แยกเป็น บำบัดทดแทนไตด้วยเครื่องไตเทียม (HD) จำนวน 45 คน บำบัดทดแทนไตทางช่องท้อง (CAPD) จำนวน 306 คน ผ่าตัดปลูกถ่ายไต (KT) จำนวน 4 คน
อย่างไรก็ตาม จากการทำงานของภาคประชาชน พบว่าผู้ป่วยไตวายที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือมีโรคติดต่อทางเลือดอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไวรัสตับอักเสบบี หากมีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องได้รับบริการ HD หน่วยบริการส่วนใหญ่ไม่ให้บริการ หรือให้บริการแต่เก็บเงินเพิ่มครั้งละ 2,500-3,500 บาท (ผู้ป่วยต้องรับบริการ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์) ทำให้ผู้ป่วยโรคไตที่มีโรคติดเชื้อร่วม ต้องจ่ายเงินค่าบริการมากถึงเดือนละ 20,000-42,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นภาระทางการเงินที่สูง อีกทั้งต้องเดินทางไปยังหน่วยบริการที่จัดบริการให้ ซึ่งไม่อยู่ในภูมิลำเนาพักอาศัยของตนเอง หลายคนต้องกู้ยืมเงินมาจ่ายค่าบริการ และไม่มีความแน่นอนว่าจะจ่ายค่าบริการได้ต่อเนื่องไปตลอดหรือไม่
สมาคมฯ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ จึงเสนอข้อเรียกร้องให้สปสช.ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนให้มีหน่วยไตเทียมที่ให้บริการโดยไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้มีโรคติดเชื้อร่วมและไม่ให้มีการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ให้บริการ โดยให้ทุกจังหวัดมีหน่วยไตเทียมที่พร้อมให้บริการอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง และในระยะยาวควรส่งเสริมให้หน่วยบริการทุกแห่งให้บริการได้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีมาตรฐาน ทั่วถึง และเท่าเทียม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติใดๆ รวมทั้งเรียกร้องให้มีมาตรการชดเชยเยียวยาผลกระทบให้กับผู้ที่จ่ายเงินไปแล้วเพื่อลดภาระทางการเงินของประชาชนลง