ในอดีตด้านการเข้าถึงการรักษาของผู้ติดเชื้อเอชไอวี (ผู้ติดเชื้อฯ) ยังมีสถานะเป็นเพียงผู้ป่วย เป็นเพียงผู้รับการรักษาที่ต้องทำตามคำแนะนำของหมออย่างเคร่งครัด แต่ในชีวิตจริงหลายคนต้องเผชิญกับปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้การรักษาไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เช่น การต้องกินยาต้านไวรัสเอชไอวี (ยาต้านไวรัสฯ) อย่างต่อเนื่อง ตรงเวลา และกินยาตลอดชีวิต ผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านไวรัสฯ หรือการมีโอกาสแพ้ยา เป็นต้น ซึ่งจำเป็นที่ผู้ติดเชื้อฯ ต้องมีข้อมูล ความเข้าใจที่รอบด้านเกี่ยวกับยาต้านไวรัสฯ และที่สำคัญต้องมีระบบติดตามสนับสนุนที่ดี จึงทำให้ผู้ติดเชื้อฯ เกิดการรวมกลุ่มและเชื่อมร้อยกันเป็น “เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ” ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และเป็น “เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย”

จุดมุ่งหมายสำคัญของการรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์เข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อฯ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวีมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเข้าใจโดยไม่นำเอชไอวีมาเป็นเงื่อนไขในการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ทั้งนี้ รูปแบบการทำงานที่เริ่มจากการดูแลกันในกลุ่มได้พัฒนาสู่การทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในชื่อ “ศูนย์บริการแบบองค์รวม” หรือ “ศูนย์องค์รวม” ตั้งแต่ปี 2546 เป็นการพลิกบทบาทกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ จาก “ผู้รับบริการ” เป็น “ผู้ร่วมจัดบริการ” ซึ่งเป็นความร่วมมือของกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ กับหน่วยบริการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาระบบบริการการรักษาผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ ให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างมีมาตรฐานต่อเนื่อง ทั้งโรคฉวยโอกาส ยาต้านไวรัสฯ รวมทั้งการดูแลที่ครอบคลุมด้านจิตใจ และสังคม ผ่านกิจกรรมเยี่ยมบ้าน การพบกลุ่มประจำเดือน และการให้คำปรึกษา

มาในปี 2549 เป็นต้นมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เห็นความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ จึงสนับสนุนงานศูนย์องค์รวมที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 247 กลุ่มในการดูแลผู้รับบริการประมาณ 60,000 คน (ข้อมูล ณ ปี 2565)

นอกจากนี้เมื่อปี 2565 เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ร่วมกับวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล และ สปสช. พัฒนาหลักสูตรอบรมระยะสั้น “การให้บริการด้านเอชไอวี/เอดส์แบบองค์รวม โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งทั้งองค์ความรู้และทักษะให้กับแกนนำศูนย์องค์รวมในการดูแลและติดตามผู้ติดเชื้อฯ แบบองค์รวมที่ครอบคลุมด้านกาย ใจ และสังคม รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดบริการด้านเอชไอวี/เอดส์ร่วมกับหน่วยบริการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมด้วยการเตรียมความพร้อมขึ้นทะเบียนเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่นด้านการจัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน ตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 (พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ)

บทบาท/ภารกิจของศูนย์องค์รวม

1) ส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อฯ ได้รับการดูแลรักษาที่ได้มาตรฐานและคงอยู่ในระบบบริการอย่างต่อเนื่อง

2) สร้างความมั่นใจเรื่องการอยู่ร่วมกับเอชไอวีของตนเองและการอยู่ร่วมกับสังคม (ไม่นำเอชไอวีมาเป็นเงื่อนไขในการตีตราและการเลือกปฏิบัติ)

3) ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยทำงานร่วมกับชุมชน เช่น ทำงานร่วมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น การทำงานชุมชนเรื่องตรวจเลือดโดยสมัครใจ หรือวีซีที (VCT)

4) การปกป้องและคุ้มครองสิทธิ หากผู้ติดเชื้อฯ ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

กิจกรรมของศูนย์องค์รวม

1)ให้ข้อมูลการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีและโรคร่วมอื่น ๆ

2) ให้คำปรึกษาทั้งแบบรายบุคคลและแบบกลุ่ม

3)  การติดตามเยี่มบ้าน

4) ทำกิจกรรมพบกลุ่มให้บริการในวันนัดรับยาหรือตรวจเลือด

5)  ติดตามผู้ที่ขาดนัดหรือหายจากระบบบริการรวมถึงติดตามต่อเนื่องผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์ สื่อออนไลน์

6) ประสานส่งต่อเพื่อเข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐาน ด้านสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ