ก่อนตัดสินใจตรวจเลือดต้องได้รับคำปรึกษาอย่างรอบด้าน และเป็นสิทธิที่เราจะตัดสินใจตรวจหรือไม่ตรวจก็ได้ (VCT: Voluntary Counselling and Testing) แต่การบังคับตรวจเลือดไม่ว่ากรณีใด ๆ ไม่สามารถทำได้
.
เมื่อตรวจเลือดแล้ว “ผลเลือดเป็นลบ” เป็นไปได้สองอย่าง อย่างแรกหมายความว่า ร่างกายไม่ได้รับเชื้อเอชไอวี จากความเสี่ยงครั้งล่าสุด (ซึ่งต้องเป็นความเสี่ยงนับย้อนหลังไป 1 เดือนก่อนการตรวจเลือด) หรืออย่างที่สอง ถ้าความเสี่ยงครั้งล่าสุดผ่านมาเป็นระยะน้อยกว่า 1 เดือน แล้วมาตรวจเลือด อาจจะ ได้รับเชื้อมาแล้ว แต่อยู่ช่วงเวลาที่ยังอาจตรวจไม่พบการติดเชื้อ( ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ การประเมินความเสี่ยงครั้ง “ล่าสุด” ของตัวเองให้ถูกต้อง เพื่อผลการตรวจที่แม่นยำมากขึ้น
.
หากคุณคิดว่าคุณเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ ‘ถุงยางอนามัย’ เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยป้องกันได้ หรือหากคุณไม่สะดวกใจ มีปัญหาในการใช้ถุงยาง แต่อยากลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่สอดใส่ หรือการช่วยตัวเอง ก็เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยได้
.
หากคุณมีความเสี่ยงจากการใช้เข็มฉีดสารเสพติดร่วมกัน คุณอาจต้องหา ‘เข็มส่วนตัว’ หรือหากจำเป็นต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น ก็ควรทำความสะอาดเข็มก่อนใช้ทุกครั้งด้วยการสูบและฉีดล้างเข็ม รวมทั้งกระบอกฉีดยาด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้งในกรณีที่ไม่มีน้ำยาฆ่าเชื้อหรือสบู่ หรือหากมีน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำสบู่ควรใช้ทำความสะอาดร่วมด้วย ที่สำคัญคือต้องล้างทั้งเข็มและกระบอกฉีด
.
และต้องย้ำอีกครั้งว่าการป้องกันไม่ได้เป็นเรื่องของผู้ติดเชื้อฯ เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องป้องกันตัวเองทุกครั้ง กับทุกคน เพื่อป้องกันการรับเชื้อเอชไอวี
.
ถ้าตรวจออกมา “ผลเลือดเป็นบวก” หมายความว่า ร่างกายคุณได้รับเชื้อเอชไอวี ซึ่งในกรณีที่ผลเลือดเป็นบวก จะมีการตรวจซ้ำผลอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าไม่มีการตรวจผิดพลาดแต่อย่างใด
.
อย่างไรก็ตาม แม้ร่างกายจะมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกาย แต่ผู้ติดเชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาว หากได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน การรับการรักษาเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ทำได้ทุกโรงพยาบาล สามารถไปขอรับบริการที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้ทุกระบบหลักประกันสุขภาพ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด