การตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีขึ้นอยู่กับ “การประเมินความเสี่ยง” ที่ต้องมีครบ 3 ปัจจัย หรือตามหลัก SQQR (Source –Quality-Quantity-Route) ซึ่งรับรองโดยองค์การอนามัยโลก ดังนี้
.
1) สัมผัสแหล่งที่อยู่ของเชื้อเอชไอวี: เชื้อเอชไอวีอยู่ในคนเท่านั้นโดยอาศัยอยู่กับเม็ดเลือดขาว และอยู่ในสารคัดหลั่งบางอย่างของร่างกาย ที่พบมากคือ เลือด น้ำอสุจิ และน้ำในช่องคลอด ส่วนในน้ำลายหรือน้ำตาจะมีเชื้อเอชไอวีอยู่น้อยมาก จนไม่สามารถติดต่อไปสู่คนอื่นได้ อีกทั้งยังไม่พบเชื้อเอชไอวีในเหงื่อ น้ำตา อุจจาระ ปัสสาวะ ส่วนในน้ำนมมีเชื้อเอชไอวีอยู่น้อยมากเช่นกัน แต่เนื่องจากทารกดูดน้ำนมเป็นปริมาณมาก จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการรับเชื้อมากขึ้นด้วย
.
2) ปริมาณและคุณภาพของเชื้อเอชไอวี: เชื้อเอชไอวีที่ติดต่อได้ต้องเป็นเชื้อเอชไอวีที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น เข้าไปในกระแสเลือด ช่องคลอด ช่องทวารหนัก เป็นต้น แต่ถ้าเชื้อออกมาและอยู่ในที่ร้อน แห้ง หรือนอกร่างกาย เชื้อจะด้อยคุณภาพและไม่สามารถติดต่อไปสู่คนอื่นได้ อีกทั้งสภาพในร่างกายบางส่วน และสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกายมีผลทำให้เชื้อเอชไอวีอยู่ไม่ได้ เช่น ภายในกระเพาะอาหาร สภาพอากาศความร้อน ความแห้ง หรือความเป็นกรด – ด่าง เป็นต้น
.
3) มีช่องทางให้เชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายโดยตรง: เช่น การใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน หรือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ซึ่งเป็นการส่งต่อเชื้อกันโดยตรง โดยกรณีของการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เชื้ออาจจะผ่านเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุช่องคลอด เยื่อบุช่องทวาร หรือบริเวณเยื่อบุอ่อนปลายอวัยวะเพศชาย แต่ถ้าเป็นผิวหนังทั่วไปเชื้อเอชไอวีไม่สามารถเข้าไปได้
.
***กรณีที่มีความเสี่ยงทางบาดแผล บาดแผลต้องเป็นแผลกว้าง ใหญ่ และสดเท่านั้น รวมทั้งมีปริมาณและคุณภาพของเชื้อเอชไอวีต้องมีมากพอ***
.
“ถ้าขาดปัจจัยข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่เสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี”
.
หากเราประเมินตัวเองได้ว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อจากทางใดทางหนึ่งที่กล่าวมา การตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีก็มีความจำเป็น เพราะการตรวจหาเชื้อฯ ได้เร็วแค่ไหนยิ่งจะทำให้การเข้าถึงการรักษาเป็นไปอย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องรอให้ร่างกายเกิดภาวะเจ็บป่วยก่อน
.
อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจตรวจเลือดต้องได้รับคำปรึกษาอย่างรอบด้าน และเป็นสิทธิที่เราจะตัดสินใจตรวจหรือไม่ตรวจก็ได้ (VCT: Voluntary Counselling and Testing) การบังคับตรวจเลือดไม่ว่ากรณีใด ๆ ไม่สามารถทำได้ การเปิดเผยผลเลือดถือเป็นสิทธิเฉพาะบุคคล ที่ผู้อื่นไม่สามารถนำไปเปิดเผยได้ ถ้าเราไม่ยินยอมหรืออนุญาตเช่นกัน
.
คนที่มีความเสี่ยงสามารถขอรับการตรวจหาแอนติบอดี (Anti-HIV) ปีละ 2 ครั้งได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
.
อ่านเพิ่มเติม”: https://thaiplus.sniperplatform.com/contents/2432
#เครือข่ายผู้ติดเชื้อ #เอดส์รักษาได้ #เอชไอวีควบคุมได้ #อยู่ร่วมกันได้