ไทม์ไลน์การรณรงค์งานเข้าถึงการรักษา #ยาต้านไวรัสตับอักเสบซี ในไทย
.
ปี 2545: เกิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ที่เป็นสวัสดิการด้านบริการสาธารณสุขให้ประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในสิทธิการรักษาของสวัสดิการข้าราชการหรือประกันสังคมให้เข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐาน แต่ตอนนั้นชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังไม่ครอบคลุมการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี (ไวรัสฯ ซี)
.
2555: ยาแพ็กกิเลท-อินเตอร์เฟอรอนและยาไรบาวิริน (Pegylated Interferon + Ribavirin) ถูกเพิ่มเข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อใช้รักษาโรคไวรัสฯ ซี แต่ในความเป็นจริงไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เช่น บางโรงพยาบาลจังหวัดที่เป็นแม่ข่ายไม่มีแพทย์เฉพาะทางหรือเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยโรค ทำให้ผู้รับบริการต้องเดินทางไกล ผู้ป่วยยังคงต้องรอเพื่อพบหมอครึ่งวันหรือนานกว่านั้น หรือไม่พวกเขาก็ต้องกลับมาใหม่อีกครั้งในวันถัดไป ถ้าหมอไม่มีเวลาตรวจผู้ป่วยที่มารอได้ทันและครบทุกคน นอกจากนั้นยังคงมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แฝงอยู่ที่ไม่ได้ถูกรวมเข้าไปในการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์เพื่อกำหนดเป็นนโยบาย และการรักษาไวรัสฯ ซีที่ยังต้องแยกตามสายพันธุ์ (non-pangenotypic) มีค่าใช้จ่ายสูงและซับซ้อน
.
ขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคมในไทยได้เจรจาและพยายามผลักดันให้มีนโยบายของประเทศ ที่จะให้ผู้ป่วยไวรัสฯ ซีได้รับการรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุดด้วยยาชนิดใหม่ ซึ่งคือยาโซฟอสบูเวียร์ (Sofosbuvir: SOF) ที่เป็นยากินในกลุ่มดีเอเอ (DAA: direct acting antiviral) โดยที่ไม่ต้องใช้ยาในกลุ่มอินเตอร์เฟอรอนที่เป็นยาฉีด
.
2557: มูลนิธิเข้าถึงเอดส์และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ยื่นคำคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับยาโซฟอสบูเวียร์ของบริษัทกิลเลียด ไซแอนเซส ในไทย พร้อมรณรงค์อย่างจริงจังเพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงการรักษาโรคไวรัสฯ ซี ที่ดีและเหมาะสมที่สุด พวกเขาเรียกร้องให้กิลเลียดลดราคายาโซฟอสบูเวียร์ลงในระดับที่ประเทศจ่ายได้ และกดดันให้กระทรวงสาธารณสุขรักษาไวรัสฯ ซี ด้วยยาในกลุ่ม DAA (แทนยาแพ็กกิเลทฯ ที่เป็นยาฉีด ใช้เวลารักษานาน ผลข้างเคียงรุนแรง และประสิทธิภาพรักษาหายน้อย) ให้กับผู้ป่วยทุกคนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ยาโซฟอสบูเวียร์มีราคาแพงถึง 290,000 บาทโดยประมาณ (23,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ) สำหรับการรักษา 12 สัปดาห์ ทำให้ยาโซฟอสบูเวียร์ยังไม่รวมอยู่ในชุดสิทธิประโยชนของระบบหลักประกันสุขภาพฯ
.
2561: ประเทศไทยเพิ่มยาโซฟอสบูเวียร์ (Sofosbuvir) และยารวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์/ลาดิพาสเวียร์ (Sofosbuvir/Ledipasivir) ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาทั้งสองนี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
.
2564: ยาสูตรรวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์/เวลปาทาสเวียร์ (Sofosbuvir/Velpatasvir) ที่ใช้รักษาไวรัสฯ ซีทุกสายพันธุ์ ได้ถูกเพิ่มเข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติ
.
ปัจจุบัน: อายุรแพทย์ตามโรงพยาบาลชุมชนก็สามารถตรวจและรักษาโรคไวรัสฯ ซีได้
.
อ้างอิงข้อมูล: https://makemedicinesaffordable.org/samarn-activists-fought-for-my-right-to-survive-and-won/
.
#HepC #TNPplus #เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ