ตามหายาต้านไวรัสฯ ขาดแคลน EP: 2 ไปองค์การเภสัชกรรม
.
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย มายื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อขอให้ อภ. เร่งจัดหายาต้านไวรัสเอชไอวีให้เพียงพอและต่อเนื่อง โดยมี ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฏกกุล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ลงมาเป็นผู้รับข้อเสนอ
.
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า เราได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ ว่าได้รับความเดือดร้อนสถานการณ์ยาต้านไวรัสฯ มีไม่เพียงพอ จากเดิมที่เคยรับยาทุก 3 ถึง 6 เดือนครั้ง กลับต้องมารับยาทุก 1 เดือน หรือเกือบทุกวัน เพราะบางโรงพยาบาลต้องจัดสรรยาบางชนิดให้กับผู้ติดเชื้อฯ ให้ทั่วถึงจึงกระจายยาได้ครั้งละ 3 เม็ด 5 เม็ด 7 เม็ด 10 เม็ดก็มี ทำให้ผู้ติดเชื้อฯ ต้องเดินทางมารับยาบ่อยๆ มีผลกระทบกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการขาดงานที่ต้องลาบ่อยขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มภาระงานให้กับโรงพยาบาลที่ต้องพยายามจัดสรรยาและจ่ายยาให้เพียงพอกับความต้องการ เลยได้ยาแบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือในโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งไม่มียาให้ผู้ติดเชื้อฯ แก้ปัญหาด้วยการให้ใบสั่งยาให้ผู้ติดเชื้อฯ ไปหาซื้อยากินเอง
.
เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จึงมีข้อเสนอถึงองค์การเภสัชกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตและจ่ายยาเข้าสู่ระบบต้องช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการเร่งจัดหายาต้านไวรัสฯ ให้ได้ตามแผนงานการจัดซื้อยารวม และเร่งจัดส่งยาให้หน่วยบริการที่มียาค้างส่ง หากยาตัวไหนที่ อภ. ผลิตเองไม่ได้ หรือได้ทันตามกำหนด ควรหาหรือนำเข้ายาจากบริษัทอื่นมาทดแทน
.
รวมถึงให้มีประสานงานกับองค์การอาหารและยา เครือข่ายนักวิชาการ และภาคประชาชน จัดทำแผนเชิงรุก กระตุ้นให้บริษัทยาชื่อสามัญมาขึ้นทะเบียนในประเทศให้มากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา ซึ่งจะทำให้ยามีราคาถูกลง
.
และที่สำคัญ อภ.ควรให้ความสำคัญด้านการสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรและดำเนินการคัดค้านสิทธิบัตรที่ไม่สมควรได้รับการคุ้มครอง เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด เปิดโอกาสให้มีการวิจัยและพัฒนายาชื่อสามัญในประเทศออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น – ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ให้ข้อเสนอ
.
ด้าน ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า ขอบคุณทีมเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ที่มาบอกกล่าวแจ้งความเดือดร้อนอย่างเป็นรูปธรรมให้องค์การเภสัชกรรมได้รับทราบ ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นประเด็นที่เรามีการประชุมหารือในวงประชุมขององค์การเภสัชกรรมทุกไตรมาส รวมถึงหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่าง สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) อย่างสม่ำเสมอ และมีหลายประเด็นปัญหาที่ต้องทบทวนปรับปรุง เช่น การไม่เชื่อมโยงสอดคล้องกับระบบการเบิกจ่ายยา หรือการปรับเปลี่ยนยาต้านฯ ตัวใหม่ ที่พอมาดำเนินการจริงๆ แล้วต้องมีระยะเวลาในการเตรียมการจัดซื้อวัตถุดิบมาผลิต จึงอาจเป็นช่องว่างอันหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะของการขาดยาได้
.
“แต่ทั้งนี้องค์การเภสัชกรรมก็ไม่นิ่งนอนใจ มีการประชุมปรับเปลี่ยนแผนการผลิตตามสถานการณ์ และจะมีการทบทวนมาตรการต่างๆ อยู่เสมอ จึงอยากให้ความมั่นใจได้ว่าเราไม่ได้เพิกเฉยกับปัญหาและเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวอย่างแน่นอน” รอง อภ. กล่าว
.
#เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ #องค์การเภสัชฯ #ยาต้านไวรัสฯ