เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมเรื่อง “เรียนรู้ เท่าทัน ต่อนโยบายรัฐด้านสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ: เมดิคอลฮับ/ การเปิดเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ)/ สิทธิบัตรยา/ อาเซียน” โดย ภญ.อุษาวดี มาลีวงศ์ นักวิชาการ

ภญ.อุษาวดี กล่าวว่า เรื่องยาเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะผลประโยชน์มีมูลค่าเป็นอันดับ ๒ ของโลก รองจากการค้าอาวุธสงคราม ดังนั้นนโยบายระดับโลกย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนในประเทศ เช่น เรื่องเอฟทีเอ ปัจจุบัน ประเทศไทยเร่งทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป (อียู) ขณะที่อียูอยู่ในช่วงเศรษฐกิจซบเซา โดยในเรื่องยา ถ้าประเทศไทยยอมรับข้อตกลง เช่น การขยายอายุสิทธิบัตร การผูกขาดข้อมูลยา ฯลฯ จะทำให้เกิดปัญหาขึ้น คือยาที่มีราคาไม่แพงก็จะขยับราคาขึ้น เพราะมีการผูกขาดสิทธิบัตร และผูกขาดตลาดยา

“จุดยืนของเราคือ ห้ามเอาทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องยาไปเจรจาในระดับชาติ เพราะยาเป็นเรื่องของคนทุกคน เรื่องสุขภาพจึงเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านยามีมูลค่าเกือบร้อยละ ๕๐ ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ คือเราไม่ได้ขัดขวางการทำเอฟทีเอ แต่การทำสัญญานั้น ประเทศต้องไม่เสียเปรียบ เช่น เอากุ้ง เอาไก่ไปแลก แล้วคนที่ได้รับประโยชน์ไม่ใช่เกษตรกรรายย่อย แต่เป็นผู้ค้ารายใหญ่” นักวิชาการ กล่าว

ภญ.อุษาวดี ยกตัวอย่างงานวิจัยว่า ถ้าประเทศไทยยอมรับเงื่อนไขที่สหรัฐฯ เสนอมาในการทำเอฟทีเอ คือ การขยายอายุสิทธิบัตรออกไป ๕ ปี ประเทศจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ๒๗,๘๘๓ ล้านบาท เพราะไม่มีการแข่งขันในตลาดยา ซึ่งจะทำให้ยามีราคาแพง คนเข้าถึงยาได้ลำบาก และจะทำให้ระบบหลักประกันต้องใช้เงินทุนมากขึ้น รัฐอาจจะต้องผลักภาระให้ประชาชน

นักวิชาการ กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญคือจำเป็นต้องมียาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาด เพื่อให้ราคายาถูกลง และให้คนเข้าถึงยาได้มากขึ้น เพราะปัญหาในระบบสุขภาพของไทยมีความไม่เท่าเทียมกัน และกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ไม่พอ สิทธิประโยชน์ทางด้านการรักษาก็ไม่เท่ากัน และปัญหาการเข้าไม่ถึงยาของคนไทย เนื่องจากยาราคาแพง หรือติดสิทธิบัตร