เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ที่ผ่านมา กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) แถลงข่าว ‘เปิดกรอบเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู รวบรัด ตัดตอน ผิดรัฐธรรมนูญ’ ที่โรงแรมทีเค พาเลซ

นายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวย (ผอ.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ให้ความเห็นว่า ตามสถิติของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยปีละ ๒๖,๐๐๐ คนหรือชั่วโมงละ ๓ คน โดยที่การค้าเสรีทำให้ราคาสินค้าถูกลง และขายได้มากขึ้น ซึ่งควรใช้กับสินค้าที่มีประโยชน์เท่านั้น แต่สินค้าที่เป็นโทษไม่ควรทำ เช่น ไม่มีใครค้ายาเสพติด หรืออาวุธเสรี เช่นเดียวกับแอลกอฮอล์ โดยที่แอลกอฮอล์ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น การทำให้ราคาของแอลกอฮอล์ถูกลง จะทำให้เยาวชนเข้าถึงได้มากขึ้น

“เราไม่ควรทำให้เหล้าถูกลงแต่ยาแพงขึ้น ซึ่งการเจรจานี้ทำเพื่อให้คนไทยมีชีวิตด้อยลง ตายเร็วขึ้นหรือ” นายสงกรานต์ตั้งคำถามและว่า ก่อนหน้านี้มีการเสนอให้นำเรื่องสุราและบุหรี่ออกจากการเจรจาเอฟทีเอ แต่รัฐบาลนำประเด็นนี้กลับเข้ามาใหม่ ซึ่งรัฐบาลจะทำให้เกิดประโยชน์กับใคร และใครได้ประโยชน์จากการเจรจานี้ ซึ่งความร่ำรวยของคนไม่กี่ตระกูลสำคัญกว่าชีวิตประชาชนหรือไม่

ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี เรียกร้องให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๐ (การทำสัญญากับประเทศอื่นใด ต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชน และชี้แจงต่อรัฐสภา) ก่อนที่วาระนี้จะเข้าสู่สภา โดยที่การกำหนดระยะเวลาให้สังคมมีส่วนร่วมนั้นให้เวลาน้อย ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ

นายวิฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเจรจาเอฟทีเอไทย – อียูต่อเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพ คือ เนื้อหากรอบการเจรจาเปิดช่องให้ยอมรับการผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญาของยุโรป ที่ขอขยายอายุการคุ้มครองพันธุ์พืชเป็น ๒๐ ปี จากเดิมคือ ๑๒ ปี

“เราไม่เห็นด้วยที่เปิดช่องขยายการคุ้มครองพันธุ์พืช โดยข้อตกลงที่เกี่ยวกับพันธุ์พืชต้องไม่เกินไปกว่าข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) และไม่ขยายการคุ้มครองพันธุ์พืชตามแรงกดดันของยุโรป รวมทั้งต้องเขียนกรอบการเจรจาให้รัดกุมกว่านี้” ผอ.มูลนิธิชีววิถีกล่าวและว่า อย่างเรื่องการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้ที่เอาภูมิปัญญาท้องถิ่นไปใช้ต้องขออนุญาตตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ร่างกรอบการเจรจาเอฟทีเอไทย – อียู เขียนไว้หลวมมาก คือจะขอก็ได้ ไม่ขอก็ได้

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้ความเห็นว่า ร่างกรอบการเจรจาฯ ของกรมเจรจาฯ นั้นต้องไม่มีทิศทางเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าข้อตกลงทางการค้าเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา (ทริปส์) และหากรัฐบาลมีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องการเจรจาทรัพย์สินทางปัญญาตามข้อตกลงทริปส์นั้น ประเทศไทยก็พอจะรับมือได้กับการเจรจาครั้งนี้

ด้าน รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า เขาสนับสนุนมติสมัชชาแห่งชาติที่ไม่ให้เรื่องแอลกอฮอล์ หรือสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไปอยู่ในการเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และต้องการให้กรมเจรจาฯ เขียนกรอบการเจรจาให้ชัดเจนเพื่อไว้อ้างอิงในการเจรจา และการเขียนข้อความกำกวมถือเป็นการฉ้อฉลอย่างหนึ่ง