เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง LOVE+ รักไม่ติดลบ ที่โรงภาพยนตร์โคลีเซี่ยม โรบินสัน โอเชี่ยน นครศรีธรรมราช โดยภายในงานมีการเสวนา “เบื้องหลังหนัง มีชีวิต(บวก)” พูดคุยกับผู้ที่ใช้ชีวิตร่วมกับเอชไอวีมากว่า ๒๐ ปี และทีมผู้กำกับภาพยนตร์

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ กล่าวถึง ภาพยนตร์เรื่อง LOVE+ รักไม่ติดลบ ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของวัยรุ่นที่มีเชื้อเอชไอวี เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน ให้เข้าใจวิถีชีวิตของวัยรุ่นที่มีเชื้อฯ ว่าพวกเขาไม่ต่างจากคนอื่นๆ มีความฝัน ความหวัง คบเพื่อน คบแฟนได้ มีครอบครัว วางแผนมีลูกได้เหมือนคนทั่วไป จากข้อมูลปี ๒๕๕๕ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีเด็กอายุ ๐ – ๑๕ ปี ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีและรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสจำนวน ๕,๗๓๐ คน ทั่วประเทศ

“ผมรู้ตัวว่าติดเชื้อเอชไอวีเมื่อปี ๒๕๓๘ ตอนนั้นยังเป็นวัยรุ่นอยู่ ตลอด ๓ ปีแรกที่รู้ ไม่บอกใครเรื่องการติดเชื้อฯ เราก็คิดไม่ต่างจากคนอื่นว่าคงอยู่ได้ไม่นาน แต่ท้ายสุดมันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น ถ้าเราเข้าใจมัน ก็อยู่ร่วมกับเชื้อฯ ได้ เพราะเอดส์รักษาได้ การมีเอชไอวีไม่ได้ทำให้เราตาย แรกๆ เคยคิดว่า การใช้ชีวิตของเราน่าจะยุ่งยากแน่ๆ แต่เมื่อถึงวันนี้เราจัดการตัวเองได้ เอชไอวีก็ไม่เคยมารบกวนความรู้สึกเลย”

นายอภิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่แรกเกิดกำลังเติบโตเป็นวัยรุ่น หลายคนมีความรู้สึกอึดอัด ลำบากใจ ไม่กล้าให้คนอื่นรู้เรื่องการติดเชื้อฯ ของตัวเอง เพราะกลัวคนรอบข้างไม่ยอมรับ สิ่งที่สำคัญที่ต้องทำตอนนี้ คือ จะทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่าการใช้ชีวิตร่วมกันไม่ได้นำไปสู่การส่งต่อเชื้อฯ หรือถึงแม้จะมีเชื้อฯ ชีวิตของเขาก็ก้าวต่อไปข้างหน้าได้ โดยเครือข่ายฯ มีแผนจะจัดกิจกรรม LOVE+ คาราวาน ตระเวนฉายภาพยนตร์ตามโรงเรียนใน ๒๙ จังหวัดของโครงการ เพื่อเป็นการลดการตีตรา สร้างความเข้าใจให้เราอยู่ร่วมกันได้

ด้านนางกมลทิพย์ ยุทธิวัฒน์ อาจารย์วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช ให้ความเห็นว่า จากประสบการณ์การสอนเรื่องเพศวิถีศึกษากับเยาวชน พบว่า ในเรื่องเพศ เด็กผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนจะถูกตีตรามากกว่าเด็กผู้ชาย หรือการเข้าถึงความปลอดภัย เช่น การคุมกำเนิด เด็กผู้หญิงจะถูกตำหนิมากกว่า ซึ่งเด็กที่ประสบปัญหาเอง ก็มีความยุ่งยากใจในการที่จะอยู่ท่ามกลางการตีตราหรือเสียงตำหนิเหล่านั้น ก็คงไม่ต่างจากความรู้สึกวัยรุ่นที่มีเชื้อฯ ที่ก็ถูกตีตราเหมือนกัน

“เราคิดว่ากำลังใจจากคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทั้งวัยรุ่นที่มีเชื้อฯ และวัยรุ่นที่ประสบปัญหาด้านอื่นๆ สามารถก้าวต่อไปได้ ถ้ามีคนเข้าใจเขา โดยเฉพาะคุณครูที่ใช้เวลาอยู่กับเด็กๆ ค่อนข้างมาก ช่วยสร้างความเข้าใจให้กับเด็ก และกับคนอื่นๆ จะทำให้เขาก้าวต่อไปได้” อาจารย์วิทยาลัยเทคนิคฯ ให้ความเห็น

นางสาวฟอร์ฎีร่า นำนาผล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช หนึ่งในผู้ชมภาพยนตร์ ให้ความเห็นหลังจากชมภาพยนตร์จบว่า เขารู้สึกชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเมื่อดูแล้วทำให้รู้ว่าคนที่มีเชื้อฯ สามารถใช้ชีวิตร่วมกันกับคนอื่นได้ เช่น เป็นเพื่อนกัน อยู่ด้วยกันได้

“ทำให้เราเข้าใจว่า คนที่มีเชื้อฯ ก็เหมือนกับเรา เราก็แค่ทำตัวปกติกับเขา และเราก็เป็นเพื่อนกันได้” นางสาวฟอร์ฎีร่า กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามชมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่อง “LOVE+ รักไม่ติดลบ” ได้ ทาง www.thaiplus.net หรือ www.facebook.com/LovePlusTheMovie