ที่ คอท.๐๑๐ /๒๕๖๐

                                                                                             วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐

 

เรื่อง     ชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ 

เรียน    ผู้ผลิตรายการ “ไมค์หมดหนี้” บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด มหาชน

 

          จากกรณีที่รายการ “ไมค์หมดหนี้” ที่ออกอากาศทางช่องเวิร์คพอยท์ ๒๓ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๐ ตอนน้องแอ๊วสุดโชคร้ายแม่ติดเชื้อ HIV เพราะการเจาะหู และออกอากาศซ้ำเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ที่ผ่านมานั้น เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่ทำงานด้านการป้องกัน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับชมรายการในวันดังกล่าว ว่ารายการนำเสนอข้อมูลในเรื่องเอชไอวี/เอดส์คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง

          ทางเครือข่ายฯ จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ดังนี้

          ๑. ปัจจุบันนี้ “เอดส์รักษาได้” เพราะผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถเข้าสู่การรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส หรือป่วยเอดส์ ซึ่งโรคฉวยโอกาสทุกโรคสามารถรักษาให้หายได้ และเมื่อเข้าสู่การรักษาแล้ว ก็จะทำให้ผู้ติดเชื้อฯ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีชีวิตยืนยาวไม่ต่างจากคนทั่วไป เพราะยาต้านไวรัสจะไปทำหน้าที่ควบคุมปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวีไม่ให้ไปทำลายภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสังคมมักเข้าใจว่า เอดส์รักษาไม่ได้ หรือผู้ติดเชื้อฯ ไม่มั่นคงในชีวิต เพราะจะเสียชีวิตได้ง่าย ส่งผลต่อทัศนคติต่อผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี ว่าไม่แข็งแรง อายุไม่ยืน ฯลฯ

          ๒. ผู้ติดเชื้อฯ สามารถมีลูกได้ โดยที่ลูกไม่ติดเชื้อเอชไอวี ดังที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่สามารถยับยั้งการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ เมื่อ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา โดยลดโอกาสลงเหลือเพียงร้อยละ ๑ หากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อฯ และทารกแรกเกิดได้รับยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อฯ รวมทั้งทารกได้รับนมผงแทนการดื่มนมแม่ ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข

          แต่อย่างไรก็ตาม หากหญิงตั้งครรภ์ไม่ได้รับยาต้านฯ  โอกาสที่ทารกจะได้รับเชื้อเอชไอวีก็มีร้อยละ ๓๐ เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ร้อยละ ๙๗ ตามข้อมูลที่พิธีกรกล่าว

          ดังนั้น ผู้หญิงที่มีเชื้อเอชไอวีจึงมีสิทธิที่จะตั้งครรภ์ได้ โดยมีวิธีการป้องกันไม่ให้ทารกได้รับเชื้อฯ

          ๓. ไม่เคยพบรายงานที่พิสูจน์ได้ว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีจากการเจาะหู ทั้งนี้ ช่องทางหลักในการได้รับเชื้อเอชไอวีคือการมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกันกับผู้ติดเชื้อฯ ซึ่งดูไม่ออกจากรูปลักษณ์ภายนอก โดยผู้ติดเชื้อฯ ส่วนใหญ่ หรือกว่าร้อยละ ๙๐ ได้รับเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน ตามด้วยการใช้เข็มฉีดสารเสพติดร่วมกับผู้อื่น และการติดเชื้อฯ เมื่อแรกเกิด

     ส่วนการใช้ชีวิตร่วมกัน เช่น การดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ใช้ช้อนส้อม จานชาม กรรไกรตัดเล็บ ใช้ห้องน้ำร่วมกันไม่ทำให้ได้รับเชื้อเอชไอวี เพราะเอชไอวีอยู่ได้ภายในร่างกายของคนเท่านั้น

การติดต่อของเชื้อเอชไอวี จะติดต่อผ่านทาง น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด เลือด น้ำนมแม่ เท่านั้น

– ทางน้ำอสุจิและน้ำในช่องคลอด จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ถ้ามีเพศสัมพันธ์ไม่ใช้ถุงยาง

– ทางเลือด จะเสี่ยงกรณีใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกันและจากหญิงตั้งครรภ์สู่ทารก

– ทางน้ำนม จะเสี่ยงถ้าทารกกินนมแม่ที่มีเชื้อเอชไอวี

 

          ทั้งนี้ การสื่อสารข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จะส่งผลกระทบในการอยู่ร่วมกันในสังคมกับผู้ติดเชื้อฯ ส่งผลต่อการรังเกียจกีดกัน เช่น การไม่ให้อยู่ร่วมในชุมชน/สังคม ไม่รับผู้ติดเชื้อฯ เข้าทำงาน หรือเรียนหนังสือ เพราะเข้าใจผิดว่าเอชไอวีติดต่อได้ง่าย รวมทั้งส่งผลต่อการตีตราผู้ติดเชื้อฯ ว่าไม่ควรมีลูก เพราะจะทำให้ลูกติดเชื้อฯ ไปด้วย เป็นต้น

          อย่างไรก็ดี หากทางผู้ผลิตรายการ “ไมค์หมดหนี้” ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ทางเครือข่ายฯ ยินดีเข้าไปให้ข้อมูลกับผู้ผลิตรายการในวันเวลาที่ท่านสะดวก และหากทางผู้ผลิตรายการยินดีนำเสนอข้อมูลใหม่ในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ไม่ว่าจะเป็นรายการใดต่อผู้ชม จักเป็นพระคุณยิ่ง

 

                                                                        ขอแสดงความนับถือ        

                                                                         (อนันต์ เมืองมูลไชย)    

                                                  ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย