เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา ตัวแทนจากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เข้ายื่นเอกสารให้กับอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผ่านเจ้าหน้าที่ของสำนักสิทธิบัตร เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาให้ยกเลิกคำขอรับสิทธิบัตรยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรผสมของยาโดลูเท็คกราเวียร์กับยาต้านไวรัสเอชไอวีอีก 2 ชนิด เพราะเห็นว่าเป็นคำขอที่ไม่เข้าเกณฑ์

          นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้ความเห็นว่า ถ้ารัฐบาลยังจะมีคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตร ปัญหาการเข้าถึงยาจำเป็นจะทวีความรุนแรงขึ้น เพราะคำขอรับสิทธิบัตรยาด้อยคุณภาพจะทำให้ได้รับสิทธิบัตรคุ้มครองการผูกขาดเกินกว่า 20 ปี และทำให้การต่อรองราคาเพื่อนำยาเข้าสู่ระบบการรักษาภายใต้หลักประกันสุขภาพเป็นได้ยากยิ่งขึ้น ซ้ำยังสูญเสียงบประมาณด้านสุขภาพโดยไม่จำเป็น

          “เท่าที่เราสืบค้น ยานี้มีคำขอรับสิทธิบัตรเพียงฉบับเดียว และเป็นคำขอในยาสูตรรวมเม็ดกับยาต้านไวรัสอีก 2 ตัว การที่เรามายื่นข้อมูลให้กรมฯ เพื่อบอกว่าระบบการตรวจสอบคำขอที่ผ่านมามีปัญหา และถ้าใช้ มาตรา 44 เร่งออกสิทธิบัตร ปัญหาสิทธิบัตรด้อยคุณภาพในยาที่มีอยู่เดิมจะไม่ถูกแก้ แต่จะทำให้เป็นปัญหามากขึ้น” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว

          ด้านนายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า คำขอนี้ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร เนื่องจากอ้างข้อถือสิทธิในเรื่องการใช้ยาเพื่อบำบัดรักษาเอชไอวี แต่กฎหมายสิทธิบัตรของไทยไม่รับจดสิทธิบัตรในเรื่องการใช้ยาเพื่อรักษาโรค

          นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ กล่าวว่า ในหลายประเทศ ยาโดลูเท็คกราเวียร์เป็นยาในสูตรพื้นฐาน ใช้ร่วมกับยาต้านฯ ชนิดอื่นอีก 2 ชนิด โดยยาโดลูเท็คกราเวียร์เป็นยาที่มีประสิทธิภาพการรักษาดี กดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้เร็ว ผลข้างเคียงต่ำ กินวันละหนึ่งครั้ง และเชื้อไวรัสจะดื้อยาได้ยาก ถ้าชุดสิทธิประโยชน์ครอบคลุมยานี้ โดยเฉพาะสูตรยารวม 3 ชนิดในเม็ดเดียว จะช่วยให้ผู้ติดเชื้อฯ ที่จะต้องกินยาตลอดชีวิต กินยาได้ง่ายขึ้นและต่อเนื่องไปตลอด ไม่ต้องเผชิญกับผลข้างเคียงจากยา ลดปัญหาการเจ็บป่วยจากผลข้างเคียงระยะยาว และทำให้ผู้ติดเชื้อฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

          “แต่ถ้าปล่อยให้มีการจดสิทธิบัตรแบบนี้ หรือใช้มาตรา 44 เร่งออกสิทธิบัตร โอกาสที่เราจะเข้าถึงยาตัวนี้คงเป็นไปไม่ได้” รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ กล่าว

          ทั้งนี้ บริษัทวีไอไอวี เฮลธ์แคร์ ได้ยื่นคำขอสิทธิบัตรนี้เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 และได้ประกาศโฆษณาไปแล้วเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 แต่มูลนิธิฯ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ไม่สามารถยื่นคำคัดค้านได้ทันเวลาจึงขอยื่นข้อมูลให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาว่าจะให้เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบใช้ประกอบการพิจารณาและยกเลิกคำขอฉบับนี้หรือไม่

          ปัจจุบัน ยานี้ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศและไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติและชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ยานี้ได้ทะเบียนยาจากคณะกรรมการอาหารและยาแล้วใน 2 สูตร คือ ยาโดลูเท็คกราเวียร์เดี่ยว และยาโดลูเท็คกราเวียร์รวมเม็ดกับยาอาบาคาเวียร์และยาลามิวูดีน ขณะที่ ในแนวทางการรักษาของประเทศปี 2560 ระบุให้ยาโดลูเท็คกราเวียร์เป็นยาจำเป็นในสองกรณี กรณีแรก เป็นยาทางเลือกในสูตรพื้นฐานสำหรับผู้ติดเชื้อฯ ที่ไม่มีปัญหาดื้อยาแต่มีอาการแพ้ยาหรือมีอาการข้างเคียง และไม่สามารถใช้ยาตัวอื่นๆ ที่แนวทางการรักษาฯ แนะนำให้ใช้เป็นสูตรแรกได้ กรณีที่สอง เป็นยาจำเป็นสำหรับผู้มีปัญหาดื้อยาซ้ำซ้อน (ดื้อต่อสูตรดื้อยา)