สุดใจ ตะภา ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคอีสาน

จากการทำงานและติดตามหนุนเสริมการทำงานกลุ่มเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ในภาคอีสาน สถานการณ์การละเมิดสิทธิผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ได้รับผลกระทบจากเอดส์ ยังมีให้พบเห็นด้วยตัวเอง และจากคำบอกเล่าของสมาชิกกลุ่ม ทั้งเด็กไม่ได้เข้าเรียนหนังสือ การไม่ให้ผู้ติดเชื้อฯ ไปขายของในสถานศึกษา หรือการนำชื่อของผู้ติดเชื้อฯ ไปประกาศให้มารับทุนเบี้ยยังชีพของ อบต. เป็นต้น
ผมขอยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ในภาคอีสาน โดยมีแม่ของเด็กหญิงฟ้าใส (นามสมมติ) ไปขอคำแนะนำเรื่องการสมัครเรียนกับครู และเมื่อสมัครเรียนเป็นที่เรียบร้อย ครูคนที่รับสมัครจึงได้ให้เงิน ๓๐๐ บาท เพื่อให้ไปซื้อเครื่องแบบนักเรียน ผู้เป็นแม่ก็คิดว่า ลูกของเขาคงได้เรียนสมใจแล้ว

เมื่อถึงวันมอบตัวนักเรียน เด็กคนอื่นๆ และลูกของเขาไปเข้าแถวหน้าเสาธงด้วยความตื่นเต้น ที่ได้มีเพื่อนและได้เล่นกับเพื่อนๆ ส่วนเขาเองก็ดีใจตื่นเต้นไม่แพ้ลูก จนอดกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่

แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อเด็กๆ ทุกคนเข้าห้องเรียนไปหมดแล้ว มีครูคนหนึ่งมาบอกว่าให้แม่ของฟ้าใสไปพบผู้อำนวยการที่ห้องธุรการ เมื่อไปถึง ผู้อำนวยการบอกว่า ทางโรงเรียนไม่สามารถรับลูกของเขาเข้าเรียนหนังสือได้ เพราะมีผู้ปกครองของเด็กนักเรียนคนอื่นมาร้องเรียนว่า ถ้าทางโรงเรียนรับฟ้าใสมาเรียน เขาจะไม่ให้ลูกของพวกเขามาเรียนที่นี่

ผู้อำนวยการโรงเรียน บอกว่า รู้สึกลำบากใจมาก เพราะผู้ปกครองเด็กคนอื่นกลัวลูกของเขาติดเชื้อเอชไอวีจากฟ้าใส จึงไม่สามารถรับเข้าเรียนหนังสือได้ แต่ผู้อำนวยการเสนอวิธีหนึ่ง คือให้นำฟ้าใสไปเรียนอยู่ที่บ้าน เดี๋ยวจะฝากหนังสือไปให้ที่บ้านเอง

นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่!!

ต่อมา แม่ของฟ้าใสไปแจ้งเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับพี่เลี้ยงกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ แกนนำกลุ่มฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อสอบถามปัญหาที่เกิดขึ้นกับครูและผู้อำนวยการโรงเรียน แต่จากการลงไปพูดคุยกัน ๒ ครั้ง ก็ไม่มีทางออกร่วมกันอย่างชัดเจน แกนนำกลุ่มฯ โทรมาปรึกษาผม ผมจึงให้แกนนำฯ ลงไปเก็บข้อมูลจากผู้ปกครองเด็ก คนในชุมชน ผู้นำชุมชน ครูและผู้อำนวยการโรงเรียน ว่าประเด็นที่เกิดขึ้นกับเด็กคนนี้มีสาเหตุมาจากเรื่องอะไร

ผมและแกนนำกลุ่มฯ นัดหมายและขอประชุมกับครู ผู้อำนวยการโรงเรียน นายก อบต. เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาที่เกิดขึ้นและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผลจากที่ประชุมได้มีแนวทางเพื่อหาทางออกร่วมกันคือ ให้จัดอบรมทำความเข้าใจเรื่องเอดส์ เพื่อให้ครูและผู้ปกครองเข้าใจเรื่องเอดส์อย่างถูกต้อง และนำไปสู่การปรับทัศนคติต่อเรื่องนี้ โดยจัดอบรมเป็น ๒ รอบ รอบแรกจัดอบรมให้กับครู ผู้นำชุมชน คณะกรรมการสถานศึกษา โดยหวังว่าจะได้เป็นคนนำไปถ่ายทอดต่อในชุมชน ส่วนรอบที่ ๒ จัดอบรมให้กับผู้ปกครองเด็กของนักเรียนชั้นอนุบาล โดยที่ทางโรงเรียนร่วมออกค่าใช้จ่าย เช่น ค่าอาหาร ค่าอาหารว่าง และอำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่จัดอบรม

ในการอบรมรอบแรก มีองค์กรที่ทำงานด้านเอดส์มาร่วมเป็นทีมทำงาน โดยข้อกังวลของผู้เข้าร่วมเรื่องการติดเชื้อเอชไอวีเป็นเรื่อง กลัวเด็กกัดกัน กินของด้วยกัน ใช้ของใช้ด้วยกัน เป็นต้น แต่ไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นปัจจัยหลัก อย่างการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน ส่วนการอบรมให้กับผู้ปกครองนั้น ช่วงท้ายของการอบรม ได้ถามความเห็นของผู้ปกครอง โดยส่วนใหญ่ต้องการให้ฟ้าใสกลับมาเรียนหนังสือ แต่ก็มีผู้ปกครองเด็กอีก ๒ คนที่ยังไม่ยอมรับในเรื่องนี้

ล่าสุด ผู้อำนวยการโรงเรียนทำหนังสือถึงผู้ปกครองของฟ้าใส ให้นำฟ้าใสกลับมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนแล้ว แต่แม่ของฟ้าใสขอเวลาอีกสักพักเพื่อหาเงินซื้อชุดนักเรียนให้ลูกก่อน และจะพาลูกกลับไปเรียน
ผมและแกนนำกลุ่มฯ เลยไปซื้อเสื้อนักเรียนมาให้เพิ่มอีก ๒ ตัว เพื่อคลายความกังวลใจของแม่ของฟ้าใสที่กลัวว่าลูกจะไม่มีเสื้อใส่ไปโรงเรียน

วันนี้ ๑๐ กันยายน เป็นวันแรกที่ฟ้าใสจะไปโรงเรียน ผมคอยอย่างใจจดจ่อว่าแกนนำกลุ่มจะส่งข่าวมาเมื่อไหร่ ผลจะออกมาในทางบวกหรือลบ ช่วงบ่ายวันเดียวกัน เสียงโทรศัพท์ของผมดังขึ้น เสียงจากต้นสายบอกว่าน้องฟ้าใสไปโรงเรียนแล้ว ผมรู้สึกตื่นเต้น เลยประสานกลับไปให้แกนนำกลุ่มช่วยติดตามผลหลังจากน้องฟ้าใสไปเรียนแล้วว่าจะมีผลตามมาอย่างไรบ้าง ในใจผม ขอให้ทุกอย่างเป็นไปในทางที่ดี

นี่คือจุดเล็กๆ จุดหนึ่งที่จะเป็นก้าวสำคัญในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาอีกหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดในสังคม ผมขอขอบคุณเพื่อนๆ แกนนำกลุ่ม เพื่อนเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ พี่ๆ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ครู ผู้นำชุมชน ภาคีต่างๆ ที่ให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหา และ เป็นทีมร่วมกันลงไปแก้ไขปัญหา ความสำเร็จจากจุดเล็กๆ นี้หวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผมและเพื่อนๆ พี่ๆ ในการทำงานต่อไป

ทั้งนี้ ผมเชื่อว่าปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้น ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดในพื้นที่ และยังไม่มีทางออกของปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม การให้การศึกษา หรือให้ความรู้เรื่องเอชไอวี/เอดส์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอบรม สื่อประชาสัมพันธ์ ยังเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความเข้าใจเรื่องเอดส์อย่างถูกต้อง และปรับเปลี่ยนทัศนคติ ลดการตีตราต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ได้รับผลกระทบจากเอดส์ เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องเอดส์อย่างถูกต้อง จึงทำให้เกิดผลกระทบตามมาหลายด้าน ทั้งกาย ใจ สังคม

นอกจากนี้ ผมต้องการให้กลไกในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเอดส์ และกลไกการคุ้มครองสิทธิที่อยู่ในพื้นที่ทุกพื้นที่ มีรูปแบบที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการทำงาน เช่น ประชาสัมพันธ์ให้คนได้รู้จักช่องทางหรือหน่วยงานต่างๆ ที่คอยให้ความช่วยเหลือในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้น โดยควรที่จะมีตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ไปร่วมเป็นคณะทำงานกับกลไกการคุ้มครองสิทธิทุกระดับด้วย