ธิติพร ดนตรีพงษ์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์

หลายต่อหลายครั้งที่เราคิดและรู้สึกว่าสถานการณ์เอชไอวี/เอดส์ในประเทศไทยดีขึ้น เพราะในภาพรวมจำนวนผู้ติดเชื้อฯ ลดลง และระบบสาธารณสุขมีบริการด้านการตรวจรักษาเอชไอวี/เอดส์ รวมถึงภาพผู้ป่วยเอดส์ที่เสียชีวิตราวกับใบไม้ร่วงเหมือนเมื่อยี่สิบปีก่อนแทบจะไม่มีให้เห็น แต่ดูเหมือนว่าความก้าวหน้าด้านการป้องกันและรักษาจะไม่ดึง “ทัศนคติ” ของคนในสังคมที่มีต่อเรื่องเอดส์ให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน เพราะพบว่า สังคมไทยยังมีการดูถูก กีดกัน และรังเกียจที่จะอยู่ร่วมกับผู้มีเชื้อเอชไอวีส่งผลให้ผู้ติดเชื้อฯ จำนวนมากขาดโอกาสที่จะเรียนหนังสือ ทำงาน หรือใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ เหมือนคนทั่ว ไป

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ จัดทำโครงการหนังสั้น “อยู่ด้วยกัน” จำนวน 29 เรื่องใน 29 พื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน และให้คนทำงานด้านเด็กเข้าใจประเด็นการตีตราเด็ก เยาวชน และสามารถนำหนังสั้นไปใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจในชุมชนได้ โดยเปิดตัวหนังสั้น “อยู่ด้วยกัน” ไปเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่โรงแรมทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพฯ ภายในงานมีการจัดเวิร์คชอปกระบวนการนำหนังไปใช้ในชุมชน มีงานเสวนา “การรังเกียจกีดกัน ยังมีอยู่จริง” และแถลงข่าวเปิดตัวหนังสั้น ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและคนร่วมงานจำนวนมาก

ไฮไลท์ของงานอยู่ที่การเสวนา ซึ่งมีตัวแทนคนทำงานเรื่องเอดส์ในพื้นที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อย่าง ศุภรัตน์ จิตจำนง หรือน้องอัยย์ เยาวชนอาสาจาก จ.เชียงราย เล่าประสบการณ์จากการทำงานรณรงค์เรื่องเอดส์ในพื้นที่ว่า เขาพบเห็นเยาวชนที่ติดเชื้อฯ ถูกเลือกปฏิบัติในเชิงสุขภาพ โดยยกตัวอย่างกรณีเยาวชนที่ตั้งครรภ์ แต่เมื่อไปฝากครรภ์กลับได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ให้ทำแท้ง เพราะเกรงว่าจะส่งต่อเชื้อเอชไอวีไปสู่ลูกในครรภ์ ทั้งที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยนี้ เด็กที่เกิดจากแม่ที่มีเชื้อฯ มีโอกาสน้อยมากที่จะติดเชื้อฯ คือราวร้อยละ 2-3 เท่านั้น ที่สำคัญคือ เยาวชนคนนี้ก็มีความพร้อมที่จะมีลูก ไม่ใช่ตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม

“ปัญหามันซ้อน 2 ชั้น อันดับแรกคือเขาเป็นเยาวชน ซึ่งสังคมเห็นว่ายังไม่ใช่วัยอันควรที่จะมีครอบครัว มีลูก กับเรื่องที่สอง คือการมีเชื้อเอชไอวี ซึ่งคนทั่วไปเชื่อว่าไม่ควรตั้งครรภ์ โดยลืมนึกไปว่า แม้จะเป็นเยาวชนที่ติดเชื้อฯ แต่เขาคือคนๆ หนึ่งที่มีความรู้สึก ความต้องการเหมือนคนอื่น และการมีลูกก็เป็นความต้องการอย่างหนึ่งของเขากับแฟน ที่มีความพร้อมที่จะเลี้ยงดูเด็กที่เกิดมา”

เช่นเดียวกับกรณีที่เด็กที่มีเชื้อฯ ถูกกีดกันไม่ให้เข้าโรงเรียน ทั้งที่อายุถึงเกณฑ์ต้องเรียนหนังสือ หรือหากได้เรียนก็มีสถานการณ์เรื่องการตรวจเลือด เมื่อสมัครงานเข้ามาเป็นอุปสรรคอีกขั้นหนึ่งของชีวิต ตามคำบอกเล่าของ สุพรรณี สฤษดิ์อภิรักษ์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพชรบุรี ที่ทำงานเอดส์มากว่า 20 ปี เห็นว่าการรังเกียจ ตีตรา ส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษาของผู้ติดเชื้อฯ ด้วย เพราะหลายครั้งจากการทำงานพบว่า ผู้ติดเชื้อฯ รู้สึกว่ากินยาไปก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะถึงกินยา ดูแลรักษาตัวเองให้แข็งแรงก็มีชีวิตอยู่ลำบาก

เธอเล่าต่อไปว่า เด็กที่มีเชื้อฯ หลายคนตัดสินใจหยุดยา เพราะรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหวัง เรียนต่อก็ไม่ได้ หางานทำก็ยาก เพราะมักถูกแอบตรวจเลือดเมื่อสมัครงาน และหากพบว่าติดเชื้อฯ ก็จะไม่รับเข้าทำงาน ดังนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนสูง เพราะเรียนไปก็หางานที่มั่นคงทำไม่ได้ พอจะมีแฟน มีครอบครัวก็ไม่ได้อีก เนื่องจากคนอื่นมองว่าจะส่งต่อเชื้อฯ ไปยังคู่ เมื่อชีวิตมันอยู่ลำบากก็หยุดยาเสียดีกว่า ดังนั้น แม้การรักษาจะก้าวหน้าไปแค่ไหน แต่ตราบใดหากยังมีการรังเกียจตีตราอยู่ ปัญหาเอดส์ก็จะยิ่งทวีความซับซ้อนและกลายเป็นปมปัญหาที่คลี่คลายได้ยาก
เรื่องจริงเหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกสะท้อนในหนังสั้นทั้ง 29 เรื่อง โดย สุริยนต์ จองลีพันธ์ ผู้อำนวยการบริษัท ป่าใหญ่ ครีเอชั่น จำกัด หนึ่งในทีมที่ปรึกษาของโครงการฯ กล่าวว่า หนังสั้นหลายเรื่องออกมาดีเกินคาด เพราะเนื้อหาของหนังสื่อสารได้ชัดเจน รวมทั้งภาพ เสียง การตัดต่อ วิธีเล่าเรื่องก็สามารถดึงดูดคนดูได้ ซึ่งหนังสั้นเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอีกชิ้นหนึ่ง ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องเอดส์ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการตีตราผู้ติดเชื้อฯ

แม้ว่าจะคลุกคลีอยู่กับการทำสารคดีและการผลิตสื่อโทรทัศน์ แต่สุริยนต์ เป็นอีกคนที่ติดตามสถานการณ์เรื่องเอดส์มาโดยตลอด และมีส่วนช่วยผลิตสื่อเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องเอดส์ให้กับสังคมเสมอมา โดยร่วมกับเพื่อนๆ ที่ทำงานด้านเอดส์ เช่น การผลิตสารคดี นิทรรศการภาพถ่ายชุด “คือเรา” และการประกวดหนังสั้นโครงการ “หนังม่านรูด” ทั้งนี้ เขามองเรื่องเอดส์ในปัจจุบันว่าการรังเกียจ กีดกัน ผู้ติดเชื้อฯ ยังมีอยู่จริง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทางตรงก็อย่างเช่น การไม่รับเข้าเรียนต่อ ไม่รับเข้าทำงาน ส่วนทางอ้อมก็คือ วิธีคิดหรือมุมมองที่เห็นว่าผู้ติดเชื้อฯ อ่อนแอ น่าสงสาร และพยายามที่จะดูแลผู้ติดเชื้อฯ เป็นพิเศษ เช่น เด็กคนหนึ่งที่มีเชื้อฯ แม้ว่าจะได้เรียนหนังสือ แต่ครูก็จะปฏิบัติต่อเด็กคนนี้ต่างจากเด็กคนอื่น เช่น ไม่ต้องเล่นกีฬา ไม่ต้องทำการบ้าน หรือไม่ต้องมาเรียนหนังสือทุกวันก็ได้ เพราะเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ

“เรียกได้ว่ารูปแบบการรังเกียจตีตราเปลี่ยนไป และดูเผินๆ เหมือนจะดีที่คนในสังคมเกิดความรู้สึกเชิงบวกกับผู้ติดเชื้อฯ มากขึ้น แต่เอาเข้าจริงแล้ว การปฏิบัติดังกล่าวต่อผู้ติดเชื้อฯ คือการตีตราอีกแบบหนึ่งและยิ่งเป็นการผลิตซ้ำภาพผู้ติดเชื้อฯ ที่เป็นคนอ่อนแอ เป็นชนชั้นที่ด้อย และต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่น ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง”

เช่นเดียวกับ กิตติพงษ์ สอาดดี หนึ่งในทีมอาสาทำหนังสั้น ที่เล่าถึงความรู้สึกครั้งแรกที่ได้รับการชักชวนให้มาเป็นอาสาว่า “หวั่นๆ” เพราะรู้ว่าต้องมาทำหนังสั้นกับผู้ติดเชื้อฯ ความรู้สึกหวั่นเรื่องแรก คือกลัวว่าจะติดเชื้อฯ จากการทำงานร่วมกัน เพราะภาพที่จินตนาการคือผู้ติดเชื้อฯ ต้องผอม ดำ ดูไม่แข็งแรง อาจส่งต่อเชื้อฯ ให้เขาได้ และคงดูน่าสงสาร แต่เมื่อผ่านกระบวนการเวิร์คชอปทำความเข้าใจเรื่องเอชไอวี/เอดส์ และลงไปถ่ายหนังในพื้นที่ กลับพบว่าสิ่งที่เห็นกับสิ่งที่จินตนาการไว้เป็นเรื่องตรงกันข้าม เนื่องจากเอดส์ไม่ได้ติดกันง่ายดายเหมือนที่เขาจินตนาการ และสิ่งที่เขาสัมผัสได้ คือคนๆ หนึ่งที่มีศักยภาพ มีความมุ่งมั่นที่จะทำหนังออกมาให้ดีที่สุด เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของเขา ให้สังคมเข้าใจ

“สิ่งสำคัญที่ทำให้ผมเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับเอดส์คือ พี่ๆ ที่ผมได้สัมผัสและทำงานร่วมกัน เพราะพวกเขาทำให้ผมรู้สึกว่าผู้ติดเชื้อฯ ไม่ได้น่ากลัว ผมไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะต้องกินอาหาร กินน้ำ โอบบ่า กอดคอกับพวกเขา ซึ่งไม่ใช่เพราะความรู้หรือข้อมูลอย่างเดียวที่จะทำให้ผมเปลี่ยนความเชื่อได้ แต่ตัวตนและชีวิตที่เราเห็นอยู่นี่แหละ ที่ยืนยันว่าพวกเขาเหมือนคนอื่น และไม่ได้ดูน่าสงสารหรือเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพราะเอชไอวีไม่ได้ลดทอนความสามารถของพวกเขาเลย”

ในขณะที่ สมพงศ์ จันทรนาค แกนนำเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จ.เพชรบุรี และเป็นหนึ่งในทีมทำหนังสั้น จ.เพชรบุรี บอกว่ารู้สึกภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวและสถานการณ์ปัญหาที่เพื่อนๆ ผู้ติดเชื้อฯ เผชิญอยู่ให้สังคมได้รับรู้ โดยทีมของเขาผลิตหนังเรื่อง “ฝันสีเทา” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของเยาวชนคนหนึ่งที่มีเชื้อเอชไอวีและมีความฝันอยากเป็นทหาร แต่กังวลว่าผลเลือดของตัวเองจะเป็นอุปสรรค เขาออกตัวว่าไม่เคยมีประสบการณ์ทำหนังมาก่อน และไม่เคยคิดว่าตัวเองและทีมจะสามารถผลิตหนังสั้นออกมาได้ การทำหนังสั้นสักเรื่องจึงดูเป็นฝันที่ไกลเกินจริง แต่เมื่อผ่านกระบวนเวิร์คชอปจากคนทำหนังมืออาชีพแล้ว ทำให้เขาเข้าใจเรื่องการใช้กล้อง มุมกล้องและวิธีการเล่าเรื่องมากขึ้น

“ตอนนี้ไม่มีอะไรที่ผมคิดว่าผู้ติดเชื้อฯ จะทำไม่ได้ ถ้ามีโอกาส แบ่งปันโอกาสและช่วยกันพัฒนาทักษะให้พวกเรา หนังสั้นที่เคยคิดว่ายาก เราก็ทำออกมาจนได้ ที่สำคัญ สิ่งที่พวกเราถ่ายทอดผ่านหนังก็เป็นเรื่องราวของเพื่อนๆ ที่เผชิญปัญหาในพื้นที่จริงๆ ผมหวังว่าเมื่อได้ดูหนังสั้นของพวกเราแล้ว ผู้ชมจะเข้าใจและมีมุมมองเชิงบวกต่อพวกเรามากขึ้น และเห็นว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและอยู่ร่วมกันได้”

หนังสั้นทั้ง 29 เรื่องจะออกอากาศทางช่อง Mango TV ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 15.30 น. เร็วๆ นี้ หรือสนใจติดตามชมเรื่องราวของพวกเขาได้ที่ www.thaiplus.net บางทีคุณอาจจะเปลี่ยนความคิด ความเชื่อเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ ที่เคยมีมา เมื่อได้ดูเรื่องราวในอีกแง่มุมหนึ่งของพวกเขา ที่ตั้งใจถ่ายทอดผ่านหนังสั้นเหล่านี้