10 สิงหาคม 2556

ตามที่คณะรัฐมนตรีจะรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างไทย กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) ซึ่งประกอบด้วยประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และ ไอซ์แลนด์ โดยจะพิจารณาร่างกรอบเจรจาในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 13 สิงหาคมนี้

กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA-Watch Group) และภาคประชาสังคมตามรายนามด้านล่าง ได้ติดตามข้อมูลการเจรจาที่มีอยู่อย่างจำกัดของทางหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และศึกษาจากข้อเรียกร้องของเอฟต้าที่มีต่อประเทศอื่น ๆ เช่น ประเทศเม็กซิโก ชิลี สิงคโปร์ และอินเดีย พบว่า กรอบข้อเจรจา และข้อเรียกร้องของเอฟต้า มีความแตกต่างน้อยมากจากข้อเจรจาที่ไทยเคยถูกเรียกร้องจากประเทศสหรัฐอเมริกา และกับท่าทีของสหภาพยุโรป กล่าวคือ เป็นข้อตกลงที่ครอบคลุมการเปิดเสรีทุกด้านที่เรียกว่า Comprehensive package ได้แก่ การเปิดตลาดสินค้า การเปิดเสรีการค้าบริการ การเปิดเสรีการลงทุน การคุ้มครองการลงทุน และทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะมีผลต่ออำนาจอธิปไตยในการกำหนดทิศทางการพัฒนา และมีแนวโน้มจะสร้างผลกระทบเลวร้ายต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพอย่างรุนแรง และกว้างขวาง

การเจรจาในครั้งนี้ มีการเจรจาหัวข้อสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของคนไทยในการเข้าถึงยา ซึ่งข้อเรียกร้องของเอฟต้า ได้แก่ การขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาจาก 20 ปีเป็น 25 ปี และการคุ้มครองความลับทางการค้า (Data Exclusivity) เป็นเวลา 5 ปี ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตทุกประเภทที่จะเอื้อให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาผูกขาดพันธุกรรม

นอกจากนี้ ข้อกังวลประการสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเปิดเสรีการบริการ การลงทุน และการคุ้มครองการลงทุน หมายถึงการให้การปฏิบัติอย่างเสรีเท่าเทียมกับคนในชาติ ที่เรียกว่าการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ และการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง ประเทศคู่เจรจาต้องยอมให้มีการถ่ายโอนเงินเข้าและออกจากประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของผลกำไร ดอกเบี้ย เงินปันผล และรายได้อื่น ได้อย่างเสรีโดยไม่ชักช้า

ในกรณีการจัดทำเขตการค้าเสรีกับเอฟต้านั้น แม้จะยังไม่มีตัวอย่างชัดเจนว่าผลของการเปิดการลงทุนในประเทศอื่นๆเป็นอย่างไร แต่ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ไม่ยากนัก เพราะการเปิดเสรีการลงทุนโดยเฉพาะกับประเทศพัฒนาแล้วล้วนแต่มีเนื้อหาสาระที่ใกล้เคียงกันคือการปกป้องคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติให้มากขึ้นเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนโดยการจำกัด (ลด) อำนาจของรัฐในการควบคุมบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ลงไป และยังมีความสุ่มเสี่ยงที่นโยบายสาธารณะของรัฐบาลจะถูกนักลงทุนนำไปฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

ประเทศในกลุ่มเอฟต้ามีความได้เปรียบในความสามารถในการลงทุนค่อนข้างสูงโดยเฉพาะประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นมีแนวโน้มที่จะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนมากที่สุด เนื่องจากเป็นที่ตั้งของบริษัทข้ามชาติจำนวนมาก ทั้งกิจการการเงินการธนาคาร ประกันภัย ยาและเวชภัณฑ์ อาหาร โทรคมนาคม เป็นต้น

ในการนี้กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน และเครือข่ายองค์กรประชาชนตามรายนามด้านล่าง มีข้อเรียกร้องและข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย ในการกำหนดจุดยืนและท่าทีในการเจรจาเขตการเสรีกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ดังนี้

1. ต้องไม่ยอมรับเนื้อหาการเจรจาที่เกินไปกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ WTO (ไม่ยอมรับ ทริปส์พลัส) โดยเฉพาะในประเด็น การขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร, การผูกขาดข้อมูลทางยา, การบังคับใช้กฎหมาย, มาตรการ ณ จุดผ่านแดน และไม่ยอมรับการแก้ไขกฎหมายระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชที่ประเทศไทยใช้บังคับอยู่ ซึ่งเป็นไปตามความตกลงทริปส์และสอดคล้องกับอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว

2. การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนในบทว่าด้วยการลงทุน ที่ให้ทางเลือกเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ต้องยกเว้น ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะ, การออกนโยบายหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ, การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม, ด้านสาธารณสุข, สาธารณูปโภคพื้นฐาน และความมั่นคง

3. ไม่เปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การทำนา ทำสวน ทำไร่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปลูกป่า การเพาะและขยายพันธุ์พืช ตลอดจนการลงทุนที่สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร

4. ถอนสินค้าเหล้า บุหรี่ ออกจากการเจรจาสินค้า

5. ให้มีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของภาคประชาชนตั้งแต่การกำหนดกรอบการเจรจาและในการเจรจา ทั้งในระดับการร่วมรับรู้ข้อมูล การร่วมแสดงความคิดเห็น และระดับการร่วมตัดสินใจ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อคณะผู้เจรจาของไทย ทำให้ได้รับข้อมูล ข้อเสนอแนะเพื่อการเจรจาอย่างครบถ้วนรอบด้าน และยังเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองเจรจาได้อีกทางหนึ่ง

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเสนอในจดหมายฉบับนี้ซึ่งจัดทำขึ้นบนพื้นฐานการรักษาปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง จะได้นำไปสู่การพิจารณาและนำไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ขอแสดงความนับถือ
(ภญ. สำลี ใจดี)
กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายองค์กรงดเหล้า, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก,
สมัชชาคนจน, เครือข่ายสลัม ๔ ภาค, ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์,
คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค,
มูลนิธิเภสัชชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิสุขภาพไทย, กลุ่มเพื่อนแรงงาน, เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์, เครือข่ายชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์,
เครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ กทม., เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่,
เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (12D), โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา,
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ และ
เครือข่ายพันธมิตรเพื่อการควบคุมยาสูบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATCA)