เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และ ๑๖๖๓ สายด่วนปรึกษาเอดส์ จัดงานแถลงข่าว “ประโยชน์ ๖ อย่างที่จะได้จากการตรวจเอชไอวี” ที่สำนักงานปลัด สธ.

นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า วันที่ ๑ กรกฎาคม เป็นต้นไป จะเป็นการรณรงค์ให้คนมาเข้ารับบริการตรวจเลือดทั้งเดือน และสถานพยาบาลที่มีการตรวจเลือด จะมีการให้คำปรึกษาและเป็นบริการที่รักษาความลับอยู่แล้ว โดยการตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีนั้นเป็นประโยชน์ เพราะมีคนที่มีเชื้อฯ แต่ยังไม่รู้ตัว และอาจแพร่เชื้อฯ ได้

ด้านนายสมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. กล่าวถึงประโยชน์ ๖ อย่างของการตรวจหาเชื้อเอชไอวีว่า ๑.เป็นประโยชน์เพื่อให้ตัวเองรู้ เพราะหากติดเชื้อฯ สามารถรักษาได้ทันที ไม่ต้องรอให้ป่วย โดยที่ปัจจุบันประเทศไทยมียาที่เป็นมาตรฐานในระดับโลก ๒.เมื่อไม่ป่วยก็จะสามารถทำงาน หาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ๓.มีงานวิจัยทางการแพทย์พบว่า ถ้าติดเชื้อฯ และรักษาเร็ว ยังสามารถป้องกันการถ่ายทอดเชื้อฯ ไปยังคู่ได้น้อยลงด้วย ๔.สามารถมีลูกได้โดยที่ลูกไม่มีเชื้อฯ ๕.ถ้ารู้ว่าตัวเองยังไม่ติดเชื้อฯ ก็จะได้ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อฯ ต่อไป และ ๖.เมื่อมาตรวจเลือดจะได้รับความรู้ความเข้าใจเรื่องเอชไอวี/เอดส์ด้วย

“โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งสามารถดูแลรักษาผู้ติดเชื้อฯ ได้ แต่จะทำอย่างไรให้เอชไอวีเหมือนมะเร็ง คือ ยิ่งรู้เร็ว รักษาเร็ว ยิ่งดี เพราะเวลาที่เรารณรงค์ให้คนมาตรวจ แต่คนยังไม่กล้ามา เพราะยังมีการตีตราอยู่ ทำให้คนไม่เปิดเผยตัวเอง” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นายประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ให้ความเห็นว่า การตรวจหาเชื้อเอชไอวีแบบรักษาความลับมีความสำคัญ โดยที่หน่วยบริการอาจไม่ต้องถามชื่อ หรือให้ใช้ชื่อแฝงได้ เพราะคลินิกจะนิรนามหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่อยู่ที่กระบวนการว่าทำอย่างไรให้คนที่มาตรวจเลือดนั้นเขาไม่รู้สึกแปลกตา หรือต้องกระมิดกระเมี้ยนมา คือ ต้องทำให้การตรวจเลือดเป็นหน้าที่เหมือนตรวจมะเร็งปากมดลูก

“การแต่งงานแล้วไม่ได้แปลว่าเราไม่เสี่ยง แต่คือทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์มีโอกาสเสี่ยง ถ้าเราได้รับเชื้อฯ มาไม่เกิน ๒ สัปดาห์ และรู้เร็ว กินยาต้านไวรัสเร็ว ก็มีโอกาสรักษาหายได้ โดยไม่ต้องกินยาตลอดชีวิต เพราะการรักษาเร็วมีประโยชน์อย่างยิ่ง และรักษาง่ายกว่าคนที่ป่วย” ผู้อำนวยการฯ กล่าว

ด้านนายทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ตัวแทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจัดการปัญหาเอดส์แห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ปีละประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน สาเหตุนั้นมีหลายปัจจัย เช่น ไม่รู้ว่ารักษาได้ กลัวสังคมรังเกียจ ไม่กล้าตรวจเลือด หรือเข้าสู่การรักษาช้า ซึ่งนี่จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ว่ามีบริการตรวจหาเชื้อเอชไอวีฟรี และบริการเป็นความลับ ซึ่งจะสามารถช่วยลดการเสียชีวิตได้

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ เล่าว่า เขาอยู่ร่วมกับเชื้อฯ มา ๒๐ ปี โดยแรกเริ่มนั้นไม่เคยรู้มาก่อนว่าตัวเองมีเชื้อฯ จนมีอาการป่วย เพราะในอดีต เขาเข้าไม่ถึงการรักษา แต่ปัจจุบันระบบการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อฯ ก้าวหน้ามาก หน่วยบริการก็มีความพร้อม ซึ่งการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้ผู้ติดเชื้อฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ทั้งนี้ การไม่รู้ว่าติดเชื้อฯ ทำให้สูญเสียโอกาสในการรักษาชีวิตไว้ จึงต้องการเชิญชวนให้คนตรวจเลือดและเข้าสู่การรักษา แต่หากกังวล หรือไม่แน่ใจในการประเมินความเสี่ยงของตัวเอง ก็อาจโทรปรึกษาทางสายด่วนปรึกษาเอดส์ ๑๖๖๓ เพื่อลดความกังวลใจได้

นายสุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้ความเห็นว่า กรณีเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี จะสามารถเข้ารับบริการตรวจหาการติดเชื้อฯ ได้เองโดยไม่ต้องขออนุญาตผู้ปกครองหรือไม่นั้น ในการประชุมกับหลายภาคส่วนที่ผ่านมา คณะทำงานกำลังปรับแนวปฏิบัติเพื่อเสนอบริการการตรวจเลือดสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี โดยที่ผู้ให้บริการทางการแพทย์คำนึงถึงประโยชน์ของเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญอยู่แล้ว

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ว่า วันที่ ๑ กรกฎาคม หลายภาคส่วนจะร่วมกันรณรงค์และจัดกิจกรรมในวันรณรงค์ตรวจเลือดเอชไอวีแห่งชาติ เช่น ศูนย์เอดส์ กทม.ร่วมกับกรมทหารราบที่ ๑๑ จัดบริการตรวจเลือดหาการติดเชื้อฯ และให้ความเข้าใจเรื่องเอดส์ให้กับทหาร ๕๐๐ นาย หรือกิจกรรมของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้ คนไทยสามารถรับบริการตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้ฟรีปีละ ๒ ครั้ง ตามสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ