วันนี้ www.thaiplus.net ได้รับคำถามจากน้องๆ ในเพจของเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย www.facebook.com/TNPplus ว่า เขามีแฟนเป็นผู้ติดเชื้อฯ แล้วถ้าจูบปากกันแบบดูดดื่มเนี่ย จะมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีหรือเปล่า? 

เรามาลองทำความเข้าใจกับโอกาสในการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จากการ “จูบปาก” กันค่ะ ว่ามีโอกาสเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวีหรือไม่ มากน้อยเพียงใด?

การจูบปากนั้น สิ่งที่สัมผัสกันนอกจากปากแล้ว อาจมีการแลกลิ้น ซึ่งย่อมมีน้ำลายของอีกฝ่ายปนมาด้วย หลายคนเลยสงสัยว่าน้ำลายของผู้ติดเชื้อฯ มีเชื้อเอชไอวีอยู่หรือเปล่า?

เชื้อเอชไอวีในน้ำลายนั้นจะมีอยู่น้อยมาก จนไม่สามารถทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้ ดังนั้น การจูบปากกัน ไม่ว่าจะดูดดื่มขนาดไหน ขอให้มั่นใจว่า ไม่มีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีแน่นอน

หรือถ้ามีแผลร้อนใน เลือดออกตามไรฟัน แล้วจูบกัน ก็ไม่ทำให้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะอย่างที่บอกไปข้างต้นว่า “เชื้อเอชไอวีแทบไม่มีอยู่ในน้ำลาย”

อย่างไรก็ตาม การที่เราจะได้รับเชื้อเอชไอวีนั้น หลักการที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO คือ เชื้อเอชไอวีต้องมี “คุณภาพ” กับ “ปริมาณ” มากพอ และต้องมีช่องทางให้เชื้อฯ เข้า หากไม่มีองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่ง เพื่อให้ครบทั้ง ๓ อย่างนี้ เราจะไม่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีเลย

อย่างกรณีของการจูบปากนั้น ที่บอกว่าไม่ทำให้ติดเชื้อฯ ได้ เพราะว่าเชื้อเอชไอวีในน้ำลายไม่มีปริมาณมากพอ เมื่อปริมาณไม่มากพอ ก็ไม่จำเป็นต้องไปวิเคราะห์ว่ามี “คุณภาพ” หรือ “ช่องทาง” หรือไม่ ซึ่งหลักการในการรับเชื้อเอชไอวีนี้ สามารถนำไปใช้ได้กับทุกพฤติกรรม เพื่อวิเคราะห์ว่า เรามีโอกาสเสี่ยงในการรับเชื้อเอชไอวีมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นการดื่มน้ำ กินข้าวช้อนส้อมเดียวกันกับผู้ติดเชื้อฯ ใช้ห้องน้ำร่วมกัน เล่นฟุตบอลด้วยกัน ฯลฯ 

และจากการรวบรวมข้อมูลโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อฯ จะพบว่า กว่าร้อยละ ๘๐ ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับเชื้อฯ จากการมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย อีกทั้ง ทั่วโลกก็ไม่เคยมีรายงานใดๆ ที่บอกว่าการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกันกับผู้ติดเชื้อฯ ทำให้เราได้รับเชื้อฯ ไปด้วย

ดังนั้น คลายความกังวลใจที่จะอยู่ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเถอะค่ะ เพราะเอชไอวี/เอดส์ไม่ได้ติดกันง่ายๆ ทั้งยังป้องกันและรักษาได้ 

ทำให้ “เราอยู่ร่วมกันได้” จริงๆ