เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และองค์กรภาคีที่ทำงานด้านเอดส์ ยื่นหนังสือให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จากกรณีที่องค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ถูกปฏิเสธการจัดประชุม สัมมนา และบริการห้องพัก ห้องอาหารจากโรงแรมแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนหน้านี้ กสม.ออกแถลงการณ์ว่าการกำหนดให้ตรวจเลือดเอชไอวีเป็นเงื่อนไขในการสมัครงานถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น เป็นนโยบายที่ดี แต่ในทางปฏิบัติยังเกิดปัญหาอยู่ อย่างกรณีที่องค์กรที่ทำงานด้านเอดส์ถูกปฏิเสธการให้บริการจากโรงแรมในกรุงเทพฯ

“เราไม่รู้ว่านี่เกิดจากอะไร แต่คิดว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่ควรทำต่อกัน ในฐานะของผู้ให้บริการควรมองคนอย่างให้เกียรติ ไม่ใช้อคติส่วนตัวมาแบ่งแยกว่าติดเชื้อฯ หรือสงสัยว่าจะติดเชื้อฯ แล้วไม่ให้บริการ ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่แย่มาก ทั้งที่เราเชื่อว่าคุณเป็นมืออาชีพในการจัดบริการให้กับลูกค้า ไม่ใช่มารังเกียจและกีดกันลูกค้าของคุณเอง ผมถามว่าเคยมีแขกติดเชื้อเอชไอวีจากการกินอาหารที่โรงแรมของคุณหรือไม่” ผู้อำนวยการฯ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวต่อไปว่า การยื่นหนังสือให้ กสม.นั้นก็เพื่อให้ กสม.สอบสวนว่าเกิดอะไรขึ้น และเรียกร้องให้ผู้บริหารโรงแรมตื่นตัวหาข้อมูลความรู้ในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ พัฒนาบริการ ไม่ควรเลือกปฏิบัติ และละเมิดสิทธิผู้ติดเชื้อฯ แบบนี้ รวมถึงให้หน่วยงานที่จะไปจัดกิจกรรมพิจารณาว่าควรใช้บริการโรงแรมแห่งนี้หรือไม่

“ถ้าเรายอมรับเงื่อนไขของโรงแรม และไปหาโรงแรมใหม่ เท่ากับจะยืนยันกับสังคมว่าเราอยู่ร่วมกันไม่ได้ ที่เราต้องร้อง เพื่อบอกสังคมว่ามันเป็นอคติ เป็นการกระทำที่ผิด ละเมิดสิทธิผู้อื่น และเป็นการเลือกปฏิบัติจากความไม่เข้าใจ ทั้งที่คุณไม่สามารถดูได้เลยว่าใครติดเชื้อเอชไอวี แต่ต้องใช้การตรวจเลือดเท่านั้น” นายนิมิตร์ กล่าว

ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ให้ความเห็นว่า การเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อฯ เกิดจากความเข้าใจเรื่องเอดส์ที่ไม่ตรงกัน ทั้งที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ พยายามเจรจาทำความเข้าใจ แต่ไม่ได้รับการตอบรับที่ดี การยื่นเรื่องให้ กสม.ตรวจสอบจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะให้สังคมรับรู้ว่า มีการกีดกัน เลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ติดเชื้อฯ และปัญหานี้ต้องได้รับการคลี่คลาย

“เราหวังว่า จะเกิดการพูดคุยเพื่อความเข้าใจที่ดี และอยากให้สาธารณชนเห็นว่าเอดส์ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจอีกต่อไป รวมทั้งคาดว่าโรงแรมจะได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจเรื่องเอดส์ในแง่มุมใหม่” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าว

นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า เป้าหมายของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ คือ รณรงค์ลดการตีตราในเรื่องเอชไอวี/เอดส์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ว่าเราไม่สามารถติดเชื้อฯ จากการใช้โรงแรม เรียนหนังสือ หรือทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดี และไม่ละเมิดสิทธิกัน

นายแท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กสม.ไม่มีหน้าที่บอกว่าใครผิด ใครถูก แต่ชี้ได้ว่านี่คือการละเมิดสิทธิ ซึ่งหากเป็นเรื่องจริงก็ถือว่าสถานประกอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะจะนำข้ออ้างมาใช้ไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ทำความเสียหายให้กับโรงแรม เช่น ทำให้อาคารระเบิด หรือทำให้คนติดเชื้อฯ เป็นต้น

“ผมเชื่อว่ามีการเลือกปฏิบัติแบบนี้เกิดในสังคม บางครั้งเรายอมรับโดยดุษฎี เพราะไม่อยากยุ่ง มันยังมีอคติอยู่มาก จากความไม่รู้ หรือจากไม่หาข้อมูล ฉะนั้นเราจะเชิญโรงแรมมาตรวจสอบว่ามีกรณีนี้จริงหรือ ถามถึงเหตุผลว่าคืออะไร ถ้าชี้แจงได้ก็ว่ากัน ถ้าผู้ติดเชื้อฯ จัดกิจกรรมที่โรงแรมแล้วยอดตก ก็เอายอดมาดูว่าตกจริงไหม หรือลูกค้าติดเชื้อเอชไอวีจริงหรือเปล่า แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นแค่ข้ออ้าง และถ้าประเทศไทยยังมีความคิดแบบนี้อยู่ จะให้คนติดเชื้อฯ อยู่ได้อย่างไร แล้วจะให้เขาไปอยู่ที่ไหน” กรรมการสิทธิฯ ให้ความเห็น

นายแท้จริง กล่าวต่อไปว่า ขั้นตอนต่อไปของ กสม.คือการตรวจสอบ และเชิญสถานประกอบการมาชี้แจง