วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม 2558  เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านการเข้าถึงการรักษาไวรัสตับอักเสบซี ได้เข้าพบผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่วนกลาง พร้อมกันนี้ เครือข่ายฯ ในระดับภูมิภาค ได้เข้าพบ สปสช.เขต  เพื่อเสนอให้ สปสช. มีแนวทางที่ชัดเจนในการสนับสนุนให้หน่วยบริการทุกแห่งสามารถดำเนินการตรวจคัดกรองและวินิจฉัย รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ตามแนวทางการรักษาของกระทรวงสาธารณสุข

 

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555  ที่คณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้คัดเลือกยา Peginterferon และ ribavirin เข้าสู่บัญชียาหลัก และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีมติให้เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี genotype 2 และ 3 ที่ไม่มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ขยายข้อบ่งใช้ยา Peginterferon และ ribavirin  สำหรับรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี genotype 1 หรือ 6 และรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในกลุ่มผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยนั้น

 

แต่อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลหลายแห่งยังมีข้อมูลและความเข้าใจที่ไม่เพียงพอทั้งเรื่องแนวทางการตรวจคัดกรอง การดูแลรักษา และการบริหารจัดการค่าตรวจและค่ายารักษาไวรัสตับอักเสบซี ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ที่มีโอกาสเสี่ยง ไม่ได้รับบริการตามสิทธิประโยชน์และมาตรฐานการรักษาตามแนวทางฯ ของกระทรวงสาธารณสุข โดยแต่ละโรงพยาบาล มีแนวปฏิบัติแตกต่างกัน

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ , มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และองค์กรภาคี เห็นความสำคัญถึงสถานการณ์ปัญหาการเข้าถึงการรักษาไวรัสตับอักเสบซี เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี  อาจเป็นสาเหตุของตับแข็งหรือมะเร็งตับได้ หากไม่ได้รับการดูแลรักษา  โดยเฉพาะในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี จะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี  ประกอบกับไวรัสตับอักเสบซีรักษาหายได้ และจะเป็นการป้องกันการติดเชื้อรายใหม่ได้อีกทางหนึ่ง  เครือข่ายฯ จึงได้ดำเนินการสร้างความเข้าใจเรื่องการดูแลรักษาให้กับแกนนำและสมาชิกในเครือข่ายฯ ของแต่ละองค์กร

พร้อมกันนี้ ได้มีข้อเสนอให้สปสช. เร่งดำเนินการดังต่อไปนี้ คือ

 

1.      เนื่องจากมาตรฐานการรักษานี้ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 จึงมีผู้ที่ไม่เคยได้ตรวจคัดกรองสะสมในระบบ ทำให้โรงพยาบาลที่มีผู้รับบริการจำนวนมาก มีค่าใช้จ่ายในการตรวจสูง ดังนั้น จึงขอให้ สปสช.มีมาตรการระยะสั้น เพื่อพิจารณาสนับสนุนงบประมาณให้เป็นค่าตรวจคัดกรอง Anti HCV และ PCR สำหรับผู้รับบริการรายเก่า ที่เป็นผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด เนื่องจากผู้ติดเชื้อเอชไอวี หากติดเชื้อ HCV ร่วมด้วย จะทำให้การดำเนินโรคเร็วขึ้นทั้งสองโรค จึงควรได้รับการตรวจวินิจฉัยรักษา ประกอบกับอยู่ในระบบบริการอยู่แล้ว ส่วนผู้ใช้ยา เนื่องจากเป็นผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงในการมี HCV และ HIV รวมทั้งเข้ามาอยู่ในระบบการรักษาในคลินิกเมธาโดนแล้วเช่นกัน

2.      พัฒนาระบบการส่งต่อการดูแลรักษาที่ชัดเจน และผู้รับบริการสามารถรับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเดินทางไปรักษาได้ต่อเนื่อง ไม่ต้องรับภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางและลดเวลาในการไปรักษาลง

3.      พัฒนาเครือข่ายการตรวจทางห้องปฏิบัติการ บริหารจัดการการตรวจให้ได้ในราคาที่ถูกลง เพื่อเป็นมาตรการระยะยาวให้โรงพยาบาลที่ทำการตรวจ รักษา ลดงบประมาณในการตรวจลง

4.      สปสช.เขต จัดกระบวนการเพื่อทำความเข้าใจแนวทางการรักษาและสิทธิประโยชน์ รวมทั้งการบริหารจัดการการเบิกจ่ายเงินชดเชย ให้กับผู้ให้บริการ ทั้งแพทย์และบุคลากรผู้รับผิดชอบงานคลินิกเอชไอวี และโรคทางเดินอาหาร ในระดับจังหวัด หรือเครือข่ายหน่วยให้บริการ เพื่อจะได้บูรณาการการดูแลรักษาไปพร้อมกันทั้งสองโรค

5.      เร่งผลักดันให้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีในรูปแบบของยากิน ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโดยตรง หรือยากลุ่ม DAA (Direct-Acting Antiviral)  ให้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้นและผลข้างเคียงที่ต่ำกว่า Peginterferon เพื่อคุณภาพที่ดีขึ้นของผู้ติดเชื้อฯ ลดระยะเวลาในการรักษา และลดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้ผู้ติดเชื้อฯ สามารถใช้ชีวิตปกติได้

จึงขอให้สปสช.พิจารณาเร่งรัดดำเนินการส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเข้าถึงการดูแลรักษาตามแนวทางการรักษาของประเทศ  โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมกับไวรัสตับอักเสบซี และเมื่อระบบการดูแลรักษามีความพร้อมก็จะเกิดประโยชน์ในการรักษาประชากรทั่วไปที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้อีกด้วย