นิมิตร์  เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์

 

สวัสดี มิตรสหายร่วมงานเอดส์ทุกท่าน

ผมมั่นใจว่า คนทำงานด้านเอดส์ ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศหรือของโลก มีเป้าหมายการทำงานเดียวกัน  คือ ไม่มีการเสียชีวิตจากเอดส์ ไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ และอยากเห็นการอยู่ร่วมกันโดยไม่มีการรังเกียจกีดกัน และเป้าหมายนี้ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

เรา คนทำงานเอดส์จะเดินไปสู่เป้าหมายด้วยกันอย่างไร โดยไม่ให้เป้าหมายหนีห่างจากเราไปเรื่อยๆ   มีหลายอย่างที่เราต้องก้าวข้ามไปด้วยกัน

ประการแรก การทำงานด้านการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีของประเทศไทย ก้าวหน้าเป็นอันดับต้นๆของโลก หลักประกันสุขภาพทุกระบบของคนไทย ครอบคลุมการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีทำให้ผู้ติดเชื้อฯ เข้าถึงการรักษากว่าสามแสนคน อย่างไรก็ตาม ยังมีคนบางกลุ่มที่เข้าไม่ถึงการรักษา เพียงเพราะเขาไม่มีบัตรประชาชนไทย หรือเป็นแรงงานข้ามชาติ

แม้ยาต้านไวรัสฯ ที่เรามีในสิทธิประโยชน์ จะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษา แต่ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงสูง ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ปัจจุบันยังต้องอยู่กับยาต้านฯ ตลอดชีวิต

ขณะที่โลกใบนี้มียาต้านไวรัสฯ ที่พัฒนาไปมาก เป็นยาต้านไวรัสฯ ที่ประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงต่ำ กินจำนวนน้อยเม็ด น้อยมื้อ และเกิดการดื้อยาได้ยาก แต่ประเทศเรายังไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะปัญหาราคายาแพงและระบบสิทธิบัตรที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานผลประโยชน์สาธารณะ ไม่คุ้มครองสิทธิประชาชนในการเข้าถึงยา รัฐบาลนอกจากมองไม่เห็นปัญหานี้ ยังซ้ำเติมด้วยการจะออกกฎระเบียบที่เร่งให้มีการออกสิทธิบัตรเร็วขึ้นอีก

เราคงจะไปไม่ถึงเป้าหมายที่จะไม่มีการตายจากเอดส์ หากเรายังไม่แก้ปัญหาเหล่านี้ การเข้าถึงการรักษาของคนในประเทศ ยังเป็นงานสำคัญที่เราต้องหาทางก้าวต่อไปด้วยกัน และประเทศต้องลงทุนให้มากกว่านี้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาที่ดีกว่า

ประการที่สอง เราผ่านช่วงตายเป็นใบไม้ร่วงมาได้แล้ว แต่ไม้จะผลิใบใหม่ได้อย่างไร ถ้าสังคมนี้เต็มไปด้วยความแห้งแล้ง ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับการรักษาจนสุขภาพแข็งแรง เด็กและเยาวชนที่โตมากับเอชไอวี เขาพร้อมจะใช้ชีวิตต่อไปข้างหน้า แต่ถ้าไม่มีที่ไหนรับเข้าทำงาน ไม่มีที่เรียนหนังสือ ไม่มีบ้านจะอยู่  เขาจะเดินต่อไปได้อย่างไร

แผนเอดส์ของประเทศจะต้องมีการขับเคลื่อนอย่างจริงจังในการรณรงค์สร้างความเข้าใจ ลดอคติที่ฝังรากลึกในใจของคนในสังคม รวมทั้งเราจะต้องมีกลไกการจัดการการละเมิดสิทธิหรือการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน  เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียม

ประการที่สาม อัตราการติดเชื้อรายใหม่ของประเทศเราลดลง เนื่องจากหลายหน่วยงาน หลายภาคีทุ่มเททำงานเพื่อให้เกิดการเรียนรู้เรื่องเพศ การป้องกันเอชไอวี  แต่เรายังอยากให้อัตราการติดเชื้อรายใหม่ลดลงไปอีก จนไม่ให้มีผู้ติดเชื้อฯ รายใหม่เกิดขึ้นอีกต่อไป

แต่วันนี้ เรากลับมียุทธศาสตร์การทำงานที่ย้อนกลับไปเหมือนเมื่อสามสิบปีที่แล้ว คือทุ่มกำลังคน ทุ่มทรัพยากรไปทำงานป้องกันกับ “กลุ่มเสี่ยง” ทั้งที่เรามีประสบการณ์แล้วว่า การตอกย้ำว่าเอดส์เป็นเรื่องของคนบางกลุ่มคน ไม่ช่วยให้เกิดการป้องกันกับคนทั้งสังคม อีกทั้งการยังมุ่งย้ำการทำงานกับคนเพียงบางกลุ่ม ทำให้เราละเลยคนอีกหลายๆ กลุ่ม

ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์อย่างหนึ่งที่ตามมาคือ คนทั่วไปกลับมามองว่าการติดเชื้อเอชไอวีเป็นเรื่องความเสี่ยงของคนบางกลุ่มเท่านั้น อคติและการตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีจึงจะยังไม่หนีไปไหน

เรามีข้อมูลหญิงตั้งครรภ์ที่พบว่าติดเชื้อเอชไอวีในการตั้งครรภ์ครั้งที่ 3  เรายังพบว่าอัตราการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลดลงในกลุ่มคนบางกลุ่ม แต่ยังสูงในบางกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ถ้าเราไม่ก้าวข้ามการทำงานที่มุ่งเน้นประชากรบางกลุ่มเท่านั้น อัตราการติดเชื้อฯ รายใหม่คงไม่มีวันลดลงได้ตามเป้าหมาย

ประการสุดท้าย กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ของชุมชน เคยเป็นจุดแข็งของการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ทุกวันนี้ กลับลดน้อยถอยลง ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษา การป้องกัน แต่กลับไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมเหมือนที่เคยเป็นมา การทำงานหลายอย่างกลับไปอยู่ในอำนาจการตัดสินใจของภาคราชการเป็นหลัก ทำให้บรรยากาศการทำงานแบบภาคีที่เท่าเทียมกันเริ่มหายไป

เราจะต่อยอดความสำเร็จที่ผ่านมา เพื่อไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร หากเราไม่เดิน “เคียงบ่าเคียงไหล่” กันอย่างที่ควร ในการขับเคลื่อนงาน ??

จะหยุดแล้วย่ำเดินอยู่กับที่ ก้มหัวให้กับอุปสรรค หรือเราจะต้องก้าวข้ามสิ่งที่ขวางหน้าระหว่างเรากับเป้าหมาย?

เราคงเลือกก้าวข้ามอุปสรรคไปด้วยกัน  ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำด้วยกันเป็นลำดับแรกๆ คือ การแสดงเจตจำนงที่ชัดเจน ในการมุ่งมั่น สร้างโอกาส สร้างการมีส่วนร่วมที่เท่าเทียมให้ทุกภาคส่วน มีส่วนในการกำหนดเป้าหมาย ทิศทางและลงมือทำงานร่วมกัน

เราจะช่วยกันก้าวข้ามอุปสรรคเรื่องราคายาและนโยบายรัฐที่ทำให้คนไม่ได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ

เราจะต้องฝ่าข้ามอคติ ความกลัว ความเกลียดชัง คนที่มีความแตกต่างหลากหลายที่ทำให้คนรังเกียจ แบ่งแยก และละเมิดสิทธิกัน

เราจะต้องข้ามความคิดว่าเอดส์จะหยุดได้เพียงแค่ป้องกันให้ดีที่คนเพียงบางกลุ่มก็พอ

เราทุกคนในที่นี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของงานเอดส์ประเทศไทย ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นแพทย์ พยาบาล ผู้ให้บริการ เป็นผู้กำหนดนโยบาย เป็นคนจากชุมชน เราต่างร่วมกันกำหนดทางข้างหน้าได้ ร่วมกันศึกษาบทเรียน ความสำเร็จ ความไม่สำเร็จจากอดีต กำหนดทิศทางอย่างรอบคอบ และเดินหน้าไปพร้อมกัน

เป้าหมายไม่มีการตายจากเอดส์ ไม่มีการติดเชื้อรายใหม่ ไม่รังเกียจกีดกัน จะใกล้เข้ามาเรื่อยๆ

…. จนกว่าจะถึงสักวันหนึ่งที่ ประเทศนี้ และโลกนี้ อยู่ร่วมกับคนที่มีเชื้อเอชไอวีได้ปกติ และไม่มีใครได้รับเชื้อฯ อีก

 

มีนาคม 2560