แด่วันยุติการเลือกปฏิบัติ 1 มีนาคม ‘ลดการตีตรา หยุดเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์’

เคยมีเพื่อนเราคนหนึ่งพูดไว้ว่า “เพราะเอดส์ ทำให้เราเป็นเพื่อนกัน” ต้องขอขอบคุณเพื่อนๆ ของเราในยุคแรกๆ ที่ไม่เคยยอมแพ้ และสิ้นหวัง แต่ได้ต่อสู้และลุกขึ้นมาทำงานร่วมกับเพื่อนพี่น้องภาคีในงานเอดส์และงานด้านสุขภาพจนมาถึงทุกวันนี้

อดีตพวกเราเป็นเพียงผู้ป่วย เป็นเพียงผู้รับการรักษา ทำตามที่หมอแนะนำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ตามแต่ช่วงจังหวะชีวิตของแต่ละคน แล้วเราเริ่มรวมกลุ่ม “เพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อแบ่งปันความรู้สึก พูดคุย ไปมาหาสู่ เยี่ยมเยือน และแลกเปลี่ยนความรู้ที่มีให้กันและกัน จึงทำให้เรารู้ว่าความทุกข์ที่สาหัสของเพื่อนในขณะนั้น คือ “ทุกข์ทางใจ” และ “เรา” ผู้อยู่ในสถานการณ์คล้ายกัน ก็เข้าใจ ช่วยเหลือ และสร้างกำลังใจให้กันและกันได้เป็นอย่างดี

ต่อมาเราได้ร่วมมือกับโรงพยาบาล ด้วยการพลิกบทบาทจาก “ผู้รับบริการ” เป็น “ผู้ร่วมจัดบริการ” ทำงานในรูปแบบศูนย์บริการแบบองค์รวม หรือเรียกสั้น ๆ ว่า #ศูนย์องค์รวม ที่ตอนนี้มีอยู่ 200 กว่ากลุ่มทั่วประเทศ เพื่อให้เพื่อนผู้ติดเชื้อฯ ได้รับการดูแลครอบคลุมทั้งด้านกาย ใจ และสังคม

เพราะเราไม่ได้ต้องการแค่การรักษาเพื่อให้มีชีวิตอยู่ แต่เราต้องอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ร่วมในสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ ขณะเดียวกันเราก็ไม่อยากให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น

จนถึงปัจจุบัน ศูนย์องค์รวมได้รับการยอมรับมากขึ้นจากโรงพยาบาล จากชุมชน รวมถึง สปสช. กรมควบคุมโรค มหาวิทยาลัยมหิดล และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า “การร่วมจัดและพัฒนาระบบบริการ” เป็นสิ่งที่ภาคประชาชน “ทำได้”

วันนี้นอกจากเป็นวันที่เราจบหลักสูตรการอบรมทั้งองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นต่องานศูนย์องค์รวมแล้ว ยังเป็นวันที่เราร่วมกันปักหมุดหมายสำคัญเพื่อจะยกระดับการทำงานศูนย์องค์รวมให้เป็น “หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวี”

ทางข้างหน้ามีความท้าทายรออยู่ เรายังคงพบผู้ติดเชื้อฯ รายใหม่ ยังมีคนที่เข้าถึงการรักษาช้า หรือไม่ได้รักษาตามมาตรฐาน มีการตีตรา การลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรายังมีเพื่อนอีกหลายคนที่ต้องการหนุนช่วนให้ก้าวข้ามอุปสรรค ยอมรับการอยู่ร่วมกับเอชไอวีของตนเอง

เราต้องทำให้พวกเขามั่นใจว่า #เอดส์รักษาได้ และเมื่อรับการรักษาต่อเนื่องจนตรวจไม่พบเชื้อในเลือดเท่ากับจะไม่ถ่ายทอดเชื้อให้ผู้อื่น นั่นหมายถึง ผู้ติดเชื้อฯ ใช้ชีวิตได้ไม่แตกต่างจากคนที่ไม่เชื้อ

เราเชื่อมั่นว่า ด้วยความตั้งใจของเราและความร่วมมือจากเพื่อนร่วมทาง จะช่วยหนุนเสริมเติมเต็มให้เรามีแรงกายแรงใจที่จะร่วมลงมือทำงาน ร่วมเรียนรู้ และร่วมพัฒนาระบบบริการต่อไปอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมีความหมาย และให้งานศูนย์องค์รวมเป็นงานที่มีคุณค่ากับเพื่อนผู้ติดเชื้อฯ และผู้รับบริการทุกคน

คำกล่าวขอบคุณของ “รัชนี พุทธาจู” ผู้แทนแกนนำกลุ่มศูนย์องค์รวม ในงานมอบประกาศนียบัตร “การให้บริการด้านเอชไอวี/เอดส์แบบองค์รวม โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รุ่นที่ 1 พ.ศ. 2565” เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2566