เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมกับคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ร่วมกันยื่นหนังสือคัดค้านคำขอจดสิทธิบัตรยาต้านไวรัส ซึ่งเป็นสูตรผสมของยาทีโนโฟเวียร์ และยาเอ็มไตรซิทาบีน ของ บริษัท กิลเลียด ไซเอ็นซ์, อิงค์ (Gilead Science, Inc.)

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธาน กพอ. กล่าวว่า เนื่องจากยาที่บริษัท กิลเลียดฯ ยื่นคำขอสิทธิบัตรยา เป็นยาที่จำเป็นต้องใช้ในประเทศ โดยแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อฯ ของประเทศไทย ให้เริ่มใช้ยาต้าน เมื่อภูมิคุ้มกัน (CD4) อยู่ที่ ๓๕๐ cells/mm3 ในวันที่ ๑ ตุลาคมนี้ ซึ่งเขาคิดว่าบริษัทฯ ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตรยา เพราะไม่ได้เป็นการประดิษฐ์ยาขึ้นใหม่ จึงอยากให้กรมฯ พิจารณาไม่อนุมัติคำขอนี้

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ตัวแทนผู้ยื่นหนังสือคัดค้าน กล่าวถึงข้อเรียกร้อง ๔ ข้อคือ ๑.กรมฯ ไม่ควรอนุมัติให้สิทธิบัตรตามคำขอทั้ง ๓ ฉบับ (๑. รูปแบบขนาดใช้ยาที่เป็นหน่วยเดียวกับทางเภสัชกรรม ๒. วิธีการและสารองค์ประกอบสำหรับผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม และองค์ประกอบและวิธีการสำหรับการรวมการรักษาต้านไวรัส) ๒.กรมฯ ต้องเร่งพัฒนาคู่มือการพิจารณาคำขอสิทธิบัตรยา โดยนำผลงานวิจัยของนักวิชาการมาพิจารณาและใช้เป็นพื้นฐาน โดยมุ่งประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่มากกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นายอภิวัฒน์ กล่าวถึงข้อเรียกร้องอีกว่า ๓. คณะทำงานที่จะร่วมพัฒนาคู่มือดังกล่าวควรเป็นผู้มีความรู้ทั้งในเรื่องสิทธิบัตรและเภสัชศาสตร์ และปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และ ๔. กรมฯ ต้องเร่งแก้ไขปรับปรุงฐานข้อมูลสิทธิบัตรให้สืบค้นได้ว่าข้อมูลเป็นปัจจุบัน และถูกต้อง ครบถ้วน

ด้านนางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญามีหน้าที่ให้ความคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา อย่างเป็นธรรม ภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งการเข้าถึงยา กรมฯ ให้ความสำคัญ ดังนั้นการตรวจสอบจะทำให้มีคู่มือการปฏิบัติงานเรื่องการใช้ยาโดยเฉพาะ ซึ่งคู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตรยานี้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน เมื่อ ๒๖ มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยจะศึกษาคู่มือของประเทศต่างๆ คาดว่าจะเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้