พี่รุ่ง

เมื่อหลายปีที่ผ่านมา เราเริ่มต้นรวมกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ เพื่อให้กำลังใจและส่งเสริมเรื่องข้อมูล องค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพของตัวเองเป็นอย่างแรก แต่เรื่องโรคฉวยโอกาสที่เกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของหมอและพยาบาล ต่อมามีการรักษาด้วยยาต้านไวรัส จึงทำให้เราและเพื่อนๆ ที่มารับบริการในโรงพยาบาลมีสุขภาพแข็งแรง ชีวิตมีคุณค่า มีความหมายและกลับมาดำเนินชีวิต ทำหน้าที่รับผิดชอบต่อครอบครัว และตัวเองได้

ในระหว่างการทำงานมีการเติมข้อมูลองค์ความรู้เรื่องโรคฉวยโอกาส รวมถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ สิทธิมนุษยชน สิทธิทางเพศ สิทธิด้านเอดส์ ให้เป็นทักษะสำหรับคนทำงานกลุ่มให้มีความมั่นใจ ที่จะสื่อสารให้เพื่อนมีความรู้ ความเข้าใจ จากสถานการณ์ที่เพื่อนๆ ถูกแบ่งแยก หรือเลือกปฏิบัติ

จากที่ได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ที่ทำงานศูนย์องค์รวม ในพื้นที่ภาคตะวันตก จากที่เคยเป็น “ผู้รับบริการ” (ขณะนั้นยังป่วยอยู่) มาเป็น “ผู้ร่วมให้บริการ” และเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาคุณภาพบริการ หลายปีที่ได้ทำงานกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ อุปสรรคที่พบในการทำงานของศูนย์องค์รวม ไม่ใช่แค่เรื่องการเข้าถึงการรักษาโรคฉวยโอกาสที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ต้องดูครอบคลุมถึงเรื่องจิตใจและสังคมด้วย

ปัญหาที่สมาชิกกลุ่มเจอในเรื่องการถูกแบ่งแยก หรือเลือกปฏิบัติ เช่น การถอนฟัน ถ้าเป็นผู้ติดเชื้อฯ มารับบริการ จะมาก่อนหรือหลังก็ต้องได้ถอนหรือทำฟันเป็นคนสุดท้าย หรือการตั้งท้องของผู้ติดเชื้อฯ ก็มักจะถูกตำหนิว่าไม่สมควร เป็นต้น

ปัญหาเหล่านี้ แกนนำกลุ่มได้ปรึกษากับพี่เลี้ยงถึงเรื่องที่เกิดขึ้น เรื่องนี้ได้ถูกนำไปพูดคุยในระดับนโยบายถึงแนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อฯ เพื่อหาทางออกร่วมกันกับทางโรงพยาบาล ซึ่งในการเจรจานั้นได้ผล เกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้สถานการณ์คลี่คลาย โดยที่ผู้ติดเชื้อฯ เข้าถึงการรักษาอย่างไม่ถูกแบ่งแยก เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อฯ หรือไม่ติดเชื้อฯ ระบบการรักษาและความปลอดภัยจากการรับเชื้ออื่นๆ ก็ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน

จากกรณีที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่การทำงานของกลุ่มศูนย์องค์รวม การนำปัญหามาปรึกษากัน เพื่อหาทางออกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อันนำไปสู่การเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพที่ดีสำหรับเพื่อนๆ หรือคนที่มารับบริการในโรงพยาบาล ทั้งนี้ ในการทำงานอาจจะเกิดช่องว่างและความไม่เข้าใจกับระบบของโรงพยาบาล แต่เราต้องพยายามที่จะสื่อสาร เพื่อที่สร้างความเข้าใจที่รอบด้าน ให้กับทั้งเพื่อนของเราและทีมรักษาในระบบโรงพยาบาล เพราะต่อไปนี้ เรื่องระบบสุขภาพต้องมีส่วนร่วมของผู้รับบริการ ที่จะเข้าไปมีบทบาท

ถ้าทีมมีความเชื่อมั่นว่า “เราทำได้” เราก็จะสามารถคลี่คลายปัญหานั้นได้ ด้วยการมีส่วนร่วมของพลังระดับบุคคล กลุ่มและภาค เพื่อแก้ปัญหานั้นๆ ร่วมกัน