เป็นข่าวค(ร)าวอยู่หลายวันกับกรณีที่มหาวิทยาลัยคริสเตียนตรวจเลือดเอชไอวีนักศึกษา แล้วเมื่อพบว่านักศึกษามีเชื้อเอชไอวี ทางมหาวิทยาลัยก็ยื่นข้อเสนอให้นักศึกษาย้ายคณะไปเรียนสาขาอื่น (ข่าวสด, ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๕)

จากกรณีดังกล่าว ทำให้เราเห็นว่า การตีตรา เลือกปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อฯ ยังคงมีอยู่ ซึ่งเกิดขึ้น แม้กระทั่งในแวดวงวิชาการ
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย รับเรื่องร้องเรียนกรณีนี้ เนื่องจากหนึ่งในนักศึกษาที่ถูกตรวจเลือดเห็นว่า การปฏิบัติของมหาวิทยาลัยไม่เป็นธรรม และคิดว่าการร้องเรียนจะช่วยทำให้เขากลับเข้าไปเรียนต่อได้

“รู้สึกว่าเราไม่ได้รับความยุติธรรม อยู่ดีๆ ก็มาบอกว่าให้ไปคุยด้วย แล้วก็มาบอกเรื่องผลเลือด และให้ย้ายคณะ ก็รู้สึกอึ้ง รับไม่ได้เหมือนกัน ตอนที่อาจารย์บอกผลเลือด เพราะเราไม่ได้เตรียมตัว เตรียมใจล่วงหน้า ว่าเราจะไปต่อยังไง จะเรียนที่ไหน บางทีก็อยากฆ่าตัวตาย คือเราไม่ได้กลัวการติดเชื้อฯ เพราะมันก็เหมือนคนทั่วไป ไม่ได้กลัวตาย แต่กลัวอย่างเดียว กลัวไม่ได้เรียน”

นักศึกษาคนเดิม บอกว่า ถึงตอนนี้ เขาไม่อยากเรียนในสาขาเดิมแล้ว เขากลัวว่าเรียนไปแล้วต้องออกจากที่เรียนอีก ถ้าถูกตรวจเลือด มันฝังใจ เมื่อวันหนึ่งไม่ได้เป็นตามฝันก็เสียใจ เพราะคนเราก็มีความหวังหมดทุกคน

ด้านจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ให้ความเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้นว่า การบังคับตรวจเลือดเอชไอวี และแจ้งผลเลือดกับผู้ปกครองของนักศึกษา ขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ โดยที่การทำงานเรื่องเอดส์ ในประเทศไทย รณรงค์ให้เยาวชนมีสิทธิตรวจเลือดโดยสมัครใจ เพื่อให้เขาเหล่านั้นรับรู้ผลเลือดของตัวเอง และเข้าถึงการรักษา

ประธานคณะอนุกรรมการฯ ให้ข้อมูลว่า ทั้งในสหรัฐเมริกาและออสเตรเลียก็ไม่มีการบังคับตรวจเลือด หรือกีดกันคนที่มีเชื้อฯ ไม่ให้เรียนต่อแต่อย่างใด แต่ส่งเสริมให้คนไปตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีเอง

“การนำผู้ติดเชื้อฯ ออกจากการเรียน แล้วใช้หลักประกันอะไรมาวัดว่าคนอื่นๆ เขาจะไม่ติดเชื้อฯ ในภายหลัง ซึ่งการเลือกปฏิบัตินั้นต้องอยู่บนหลักฐานว่าส่งผลอะไร ไม่ใช่ใช้ความรู้สึก” จอน ตั้งข้อสังเกต

ขณะที่ พญ.เพชรศรี ศิรินิรันดร์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจัดการปัญหาเอดส์แห่งชาติ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นว่า เขามองไม่เห็นประโยชน์ที่มหาวิทยาลัยต้องตรวจเลือดนักศึกษา ทั้งที่ในปัจจุบัน การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ พัฒนาขึ้นมาก โดยที่การติดเชื้อเอชไอวีเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ควบคุมได้ คล้ายกับโรคเบาหวาน

นักศึกษาคนดังกล่าว บอกว่า เขาต้องการให้มหาวิทยาลัยหยุดวิธีการตรวจเลือดแบบนี้ และไม่ต้องการให้มหาวิทยาลัยกีดกันคนติดเชื้อฯ เรียนต่อ เพราะถึงแม้จะให้ย้ายคณะได้ ก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่อยู่ดี เพราะโอนหน่วยกิตได้ไม่กี่ตัว

สิ่งที่เขาอยากบอกคือ เขาต้องการให้มหาวิทยาลัยชดเชยในสิ่งที่เสียไป เช่น ความรู้สึก กับเวลา ๒ ปีที่เรียนมา และเวลาในปีนี้ที่เสียไป จะเอาคืนได้อย่างไร

แม้ทางมหาวิทยาลัยจะให้เหตุผลว่า เคยมีกรณีที่นักศึกษาที่มีเชื้อฯ เรียนจบ แล้วไปสมัครงาน เขาก็ไม่รับอยู่ดี ทางมหาวิทยาลัยจึงตรวจเลือดนักศึกษาเพื่อป้องกันเอาไว้ก่อน ไม่อยากให้นักศึกษาถูกดับฝัน

วิธีการป้องกันการ “ดับฝัน” ของมหาวิทยาลัย คือการตัดไฟแต่ต้นลม โดย “ดับฝัน” นักศึกษาเสียเอง ซึ่งวิธีการเช่นนี้ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ บอกว่า “ตามหลักการคุ้มครองสิทธิคือ เราไม่สามารถไปละเมิดสิทธิคนหนึ่ง เพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิของอีกคนหนึ่งได้”
แม้จะเป็นเรื่องจริง อย่างที่มหาวิทยาลัยบอก คือมีสถานประกอบการหลายแห่งไม่ยอมรับผู้ติดเชื้อฯ เข้าไปทำงาน แต่โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ แล้ว ไม่สามารถปฏิบัติเช่นนี้ได้

“โฮมโปร” ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงาน โดยผู้บริหารของโฮมโปรให้เหตุผลว่า เพราะงานที่นี่เป็นงานบริการลูกค้า ซึ่งงานค่อนข้างหนัก ต้องยืนตลอดเวลา โดยที่กระบวนการตรวจคือให้พนักงานที่ผ่านการคัดเลือกข้อเขียน หรือเกณฑ์ต่างๆ แล้ว ไปตรวจสุขภาพ โดยจะบอกให้รู้ตัวก่อนว่าตรวจอะไรบ้าง เช่น ตรวจโรคปอด โรคติดเชื้อ วัณโรค ลูคิเมีย

และเมื่อรับเข้ามาทำงานแล้ว จะไม่มีการตรวจเอชไอวี มีเพียงแค่ตรวจสุขภาพประจำปีเท่านั้น

ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า การใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน เช่น กินข้าว ใช้ห้องน้ำ ทำงานร่วมกัน จะทำให้ติดเชื้อเอชไอวีไปด้วย รวมถึงมักคิดว่า ผู้ติดเชื้อฯ ต้องป่วย ต้องอ่อนแอ ส่งผลให้กีดกันผู้ติดเชื้อฯ ตั้งแต่แรกเริ่มรับเข้าทำงาน เพราะคิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ เช่น ถ้ารับผู้ติดเชื้อฯ มาแล้วจะทำงานให้ไม่คุ้มกับค่าจ้าง เพราะไม่แข็งแรง เป็นต้น แต่หารู้ไม่ว่า โอกาสในการติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นปัจจัยหลักคือ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ ดังนั้นการขีดเส้นแบ่งเมื่อแรกเริ่ม ย่อมไม่บรรลุผลตามเป้าที่วางไว้

อย่างที่ จอน บอกว่า นโยบายที่ไม่รับผู้ติดเชื้อฯ นั้นสามารถกั้นไม่ให้ผู้ติดเชื้อฯ มาทำงานได้ แต่คนที่ผ่านงานมาแล้ว โอกาสในการติดเชื้อฯ ก็มีเท่ากันหมด ทั้งหญิงและชาย แทนที่จะกีดกัน แต่ให้ความรู้เรื่องการป้องกันเอดส์ ให้เกิดความเข้าใจ และสร้างแรงจูงใจให้ไปตรวจเอชไอวีเอง น่าจะได้ผลมากกว่า

แม้ว่าการเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับ “โฮมโปร” จะมีแนวโน้มที่ดี เพราะผู้บริหารให้คำมั่นว่า โฮมโปรยินดีทำตามข้อกำหนดของสังคม หรือกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้เองก็ไม่น่าจะติดในเชิงนโยบาย โดยที่หากเปลี่ยนนโยบายแล้ว เขาก็ต้องการเปลี่ยนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปกับกรณีของโฮมโปรนี้คือ เขาจะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ในอีก ๓ เดือนข้างหน้า

เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อเรื่องเอดส์ ย่อมต้องใช้เวลา เราเพียงหวังว่า การเป็นข่าวคราวของมหาวิทยาลัยเอกชน หรือการเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างโฮมโปรนี้ จะเป็นโอกาสดีที่ทำให้สถานศึกษา หรือสถานประกอบการ ได้กลับมาทบทวนดูนโยบายของตัวเองว่า สร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมหรือไม่ ขณะเดียวกัน คนทำงานเอดส์ก็ต้องกลับมาทบทวนว่า ยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๕๙ ที่กำหนดการทำงาน ๓ อย่างเพื่อที่จะทำให้เป้าหมายเป็นศูนย์ คือ ๑.ไม่มีผู้ติดเชื้อฯ รายใหม่เกิดขึ้น ๒.ไม่มีการเสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ และ ๓.ไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัตินั้น ยังคงเป็นจริงอยู่หรือไม่ อย่างไร

“เราอยากให้คนในสังคมรับรู้ว่ามันยุติธรรมหรือไม่ที่กีดกัน ไม่ให้สามารถเรียนหนังสือได้ ใช้ชีวิตประจำวันได้ อยากบอกสังคมว่า คนเราก็มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน ไม่ควรมาแบ่งแยก” นี่คือเสียงของเยาวชนผู้ถูกกระทำกล่าวทิ้งท้าย